พิจารณาละอุปาทานยึดมั่นในขันธ์ห้า : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
...
ถ้าบุคคลผู้ที่จิตใจไม่ตั้งมั่นแล้วบัดนี้
เมื่อเวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้นในขันธ์ห้านี้
กระทบกระทั่งจิต จิตก็ฟุ้งเลย ดำรินึกคิด
ตรึกตรองส่งไป ทำยังไงหนอ..
เราจึงจะหายจากทุกขเวทนานี้ หมายถึงว่า
จิตไปยึดเอาทุกขเวทนามาเป็นของตัวแล้วบัดนี้นะ
แล้วก็ดิ้นอยากจะหายจากทุกขเวทนานั้น
ก็ส่งใจไปทั่วพิภพแล้วบัดนี้นะ
เพราะว่ามันสู้ทุกขเวทนาไม่ได้เด๊ะ ไม่ได้ฝึกให้มันสงบ
ให้มันหนักแน่นมาแต่ก่อน เป็นอย่างนั้นเรื่องมันน่ะ
เมื่อจิตใจหวั่นไหวต่อทุกขเวทนาอยู่อย่างนั้น
ก็แสดงว่าจิตใจยึดขันธ์ห้ามาเป็นตัวเป็นตน
มันก็เป็นตัวกรรมล่ะบัดนี้ ตัวกรรมเหล่านี้นำให้เกิดอีก
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
“อุปาทานเป็นปัจจัยบังเกิดภพ
ภพเป็นปัจจัยบังเกิดชาติ
ชาติเป็นปัจจัยบังเกิดชรา พยาธิ มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส”
เป็นอันว่า ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวมานี้
เมื่อใจยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้านี้แล้วอย่างนี้
มันก็ใช้ขันธ์ห้านี้ไปทำดีมั่งทำชั่วมั่ง
นี่กรรมดีกรรมชั่วนี้แหละก็นำดวงจิตนี้
ไปเกิดในภพในชาติต่อๆไป มันเป็นอย่างนั้น
ต้องสาวหาเหตุปัจจัยให้มันได้ให้มันรู้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะได้เกิดนิพพิทา เบื่อหน่าย
เบื่อหน่ายต่อความยึดความถือนี้อย่างนี้นะ
ถ้ามันไม่เบื่อหน่ายมันก็ไม่คลาย ..ไม่คลายความยึดความถือ
เรื่องมันเป็นอย่างนั้น
คนไม่ได้หยั่งปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษ
แห่งความยึดถือนี้นะ ส่วนมากเป็นอย่างนั้นแหละ
มันถึงไม่อยากพ้นจากขันธ์ทั้งห้าอันนี้มันจึงได้สะสมไว้
สะสมความรัก ความอาลัยในขันธ์ห้านี้ไว้อย่างนี้นะ
เมื่อสะสมความรักไว้แล้วบัดนี้ มันก็มีความชัง
เกิดเป็นคู่กันขึ้นมา มันก็โกรธขึ้นมาในใจอย่างนี้นะ
นั่นแหละความรักมีแล้วความชังก็มี ต้องให้เข้าใจ
ถ้าละความรักนี่ในขันธ์ห้านี่
ไม่ถือว่าขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตนอย่างนี้
เอ้า ใครจะนินทา ใครจะสรรเสริญ ใครจะดูถูกดูหมิ่น
ก็ว่ากันไป..จิตนี่มันก็รู้แจ้งแล้วว่า เขาไม่ได้ว่าให้เรา
เขาว่าขันธ์ห้าต่างหาก แล้วจะไปเดือดร้อนอะไร
มันก็ไม่เดือดร้อนแล้วบัดนี้ ไม่โกรธ
ไม่ฉุนเฉียวอะไรเลย มันเป็นอย่างนั้นเรื่องมันน่ะ
ดังนั้นไอ้ความสำคัญผิดคิดว่า
ขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตนนี่ละเอียดมากนะ
พิจารณาให้ดีๆภาวนาให้ดีๆ พิจารณาให้ละเอียด
พิจารณาบ่อยๆเลยทีเดียวน่ะ อย่าไปเมินเฉยนะ
ถ้าเมินเฉยล่ะเป็นว่าละอุปาทานไม่ได้แล้ว
แม้แต่อุปาทานอย่างหยาบๆก็ละไม่ได้
อย่าว่าแต่ส่วนละเอียดเลย
...
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ "แนวทางอริยะ"