"ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต"
เห็นธรรมนี้ เห็นอย่างไร รู้ธรรมนี้ รู้อย่างไร
ก็ดังที่เราปฏิบัติอยู่นี้แหละ
ทางจิตตภาวนาเป็นสำคัญ นี่คือ การปฏิบัติธรรม
การเห็นธรรม ก็จะเห็นอะไร
ถ้าไม่เห็นสิ่งที่กีดขวางอยู่ภายในตนเองเวลานี้
ซึ่งเราถือว่ามันเป็นข้าศึกต่อเรา
ได้แก่ "สัจธรรม ๒ บทเบื้องต้น คือ ทุกข์ ๑ สมุทัย ๑"
เราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจตามจริงของมัน
ที่มีอยู่กับทุกคน ทุกตัวสัตว์ ไม่มีเว้น
เว้นแต่พระอรหันต์เท่านั้น ที่สมุทัยไม่เข้าไปแทรกท่านได้
นอกนั้นต้องมีไม่มากก็น้อย ที่ท่านเรียกว่า "สัจธรรม"
พิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้แล้ว
ก็ชื่อว่า "เห็นธรรม" ละได้ ถอนได้
เกิดเป็นผล ความสงบสุขเย็นใจขึ้นมาจากการละการถอน
การปล่อยวางสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้ เรียกว่า "เห็นธรรม"
คือเห็นเป็นขั้น ๆ เห็นเป็นระยะ ๆ
จนกระทั่งเห็นองค์ตถาคตโดยสมบูรณ์...
การที่เรายึดถือการประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา
ก็ชื่อว่า "เราเดินตามตถาคต
และมองเห็นพระตถาคตด้วยข้อปฏิบัติของเรา"
อีกแง่หนึ่ง เห็นตถาคตโดยทางเหตุคือ การปฏิบัติ
เห็นโดยทางผล คือ สิ่งที่พึงได้รับโดยลำดับ
เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น ทรงได้รับ
และทรงผ่านไปโดยลำดับแล้วนั้น
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี
ไม่ได้ห่างเหินจากใจของผู้ปฏิบัติธรรม
เพื่อบูชาตถาคต หรือบูชาพระธรรม พระสงฆ์ นี้เลย
นี่เป็นการบูชาแท้
นี่เป็นการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา
ด้วยความพากเพียรของเรา
_/l\_ _/l\_ _/l\_