ทวนกระแสตัณหา : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
...
ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เกิดขึ้นจาก "จิตใจดวงเดียว" นี้เองนะ
ไม่ใช่เกิดขึ้นจากที่อื่น บุญก็ดี บาปก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี หมู่นี้นะ
“ความอยาก คือ ตัณหา” ก็เหมือนกัน ก็จิตนี้เป็นผู้อยาก
เป็นผู้ดิ้นรนทะเยอทะยาน ถ้าจิตนี้ไม่ทะเยอทะยานแล้ว ตัณหาไม่มี
ตัณหามันจะเกิดเองไม่ได้เลย จิตต่างหากปรุงแต่งมันขึ้น มันจึงมีได้
จิตนี้เมื่อบุคคลไม่ฝึกฝนอบรมแล้วมันก็ตกเป็นทาสของตัณหานี้
เรื่อยมาแหละตั้งแต่ชาติหลังโน่นแหละมาจนถึงจนถึงปัจจุบันนี้
ก็ต้องเป็นทาสของตัณหาอยู่อย่างนั้นแหละ
อย่าไปเข้าใจว่าเป็นอิสระนะคนไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตใจนี่
เพราะเหตุนั้นมันถึงไม่ปรารถนาที่จะแสวงหาศีลธรรม
ไม่ปรารถนาที่จะรู้สัจธรรม ธรรมของจริง
ก็เพราะว่า ตัณหามันมีอำนาจ มันสามารถบังคับให้คนเรานั้น
เบื่อหน่ายต่อศีลต่อธรรมต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
บุคคลที่เคารพนับถือพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ ค่อยยังชั่วหน่อย..
พอที่จะทวนกระแสกิเลสตัณหานั้นได้อยู่เป็นบางครั้งบางคราว
ถ้าหากว่าผู้ใดขาดความเคารพนับถือในพระคุณทั้งสามนี้แล้ว
มันไม่มีแก่ใจที่จะมาทวนกระแสของกิเลสตัณหาเลย
มีแต่ปล่อยตนให้ไหลไปตามอำนาจกิเลสตัณหาโดยส่วนเดียว
กิเลสตัณหามันพาให้ทำบาปก็ทำกับมัน ก็ไปตามมัน
เอ้า กิเลสตัณหามันบันอาลให้ไปทำบุญ ก็ไปทำบุญไป
ทำอะไรเอากิเลสตัณหาว่าคนที่ไม่ได้ฝึกใจของตน
ให้เข้มแข็ง ให้อยู่เหนืออำนาจกิเลสตัณหา มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ
เพราะฉะนั้นผู้ใดรู้ตัวว่าตน
ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาดังกล่าวมานี้แล้ว
ก็พยายามฝึกจิตใจของตนเข้าไป ให้ใจมันเข้มแข็ง
ให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญในกุศลในคุณความดีให้มาก
แล้วจิตใจมันจะมิได้ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหานั้น
ก็อย่างที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ อะไรๆก็มีใจนี้เป็นใหญ่เป็นประธาน
สุดแล้วแต่ใจจะน้อมไปทางไหน
ถ้าใจไม่ฉลาดมันก็น้อมไปในทางกิเลสตัณหา
สั่งสมกิเลสตัณหานั้นให้มากขึ้นในจิตใจ
ถ้าใจมันมีปัญญามันฉลาด มันรู้ว่ากิเลสตัณหานี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
บุคคลจะได้รับความทุกข์ทนทรมานโดยอาการอย่างใด
ก็เกิดไปจากตัณหาความทะยานอยากนี้เป็นมูลเหตุ
ผู้ใดรู้อย่างนี้แล้วมันก็พยายามแหละบาดนิ
พยายามทวนกระแสของตัณหาเลย
เมื่อมันอยากได้อะไรขึ้นมา พิจารณาเห็นว่า ไอ้สิ่งที่มันอยากนั่น
มันเป็นทุกข์เป็นโทษ เช่นนี้แล้วมันก็ไม่ไปตามน่ะ
ไม่ไปตามความอยากนั้น มันก็ต้องละความอยากนั้นเสีย เป็นอย่างนั้น
ถ้าความอยากอันใด มันไม่เป็นไปเพื่อทุกข์เพื่อโทษ
มันเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น เช่นนี้ก็จึงค่อยทำไป
จึงค่อยไปตามความอยากนั้นๆ
ดังนั้นพูดถึง "ตัณหาความอยาก" แล้ว
มันก็ควรจะแบ่งออกเป็นสองภาคได้อยู่
ภาคหนึ่งนั้นมันมี “อวิชชา” เป็นเพื่อน มีความไม่รู้นั่นน่ะ
กำกับไปกับความอยาก เมื่อมันมีความไม่รู้กำกับไปความอยาก
ส่วนมากมันก็อยากไปกับความเป็นบาปเป็นโทษนั่นแหละ
เรื่องของอวิชชาความไม่รู้แล้ว มันก็ต้องหมุนไปทางบาป มันเป็นอย่างนั้น
ความอยากอีกประเภทหนึ่งประกอบไปด้วย “ปัญญา”
เมื่อมันอยากสิ่งใดมา มันก็ใคร่ครวญซะก่อน
ว่าสิ่งที่ตนอยากนี้มันเป็นคุณหรือเป็นโทษ
มันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ มันก็ต้องใคร่ครวญเสียก่อน
อันนี้เรียก ความอยากประกอบไปด้วยปัญญา
ถ้าเห็นว่า สิ่งที่มันอยากนั้นมันมีมันเป็นไปเพื่อทุกข์เพื่อโทษ
มันก็ไม่อยาก มันก็เว้น ถ้าเห็นว่าสิ่งที่อยากนั้น
มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่นอย่างนี้
ก็จึงค่อยดำเนินไปตามความอยากนั้น
...
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
"สอนให้รู้จักทำใจให้เป็นกลาง"