คนที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ (มหาสารชาดก)

 DhammathaiTeam  



ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระอานนทเถระ เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งนั้น พระสนมของพระเจ้าโกศล มีความประสงค์จะศึกษาธรรมะ จึงขอโอกาสพระราชา นิมนต์พระสงฆ์รูปหนึ่งเข้ามาสอนธรรมะในพระราชวัง พระราชาทรงเห็นดีด้วย จึงกราบทูลแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงจัดส่งพระอานนทเถระเข้าไปแสดงธรรมในพระราชวัง

ต่อมาวันหนึ่ง พระจุฬามณีของพระราชาเกิดสูญหาย พระราชาจึงรับสั่งให้อำมาตย์ตรวจค้นผู้คนในพระราชวังทั้งหมด แต่ก็ไม่พบ ทำให้ผู้คนเกิดความเดือดร้อน

วันนั้น พระเถระเข้าไปพระราชวัง พบเห็นความผิดปกติของพระสนม ซึ่งทุกวันพอเห็นพระเถระมา จะพากันร่าเริงยินดี ตั้งใจเรียนธรรม แต่วันนั้น กลับดูเหงาหงอย ซึมเซา จึงถามดู เมื่อทราบความแล้ว จึงขอเข้าเฝ้าพระราชา และให้คำแนะนำว่า

" อุบายที่จะไม่ทำให้มหาชนลำบาก แล้วให้เขานำพระจุฬามณีมาคืน พอมีอยู่ โดยใช้บิณฑทาน กล่าวคือ พระองค์สงสัยคนเท่าใด ก็จับคนเท่านั้น แล้วให้ฟ่อนฟางหรือก้อนดินไปคนละก้อน บอกให้นำมาโยนทิ้งไว้ที่ห้องหนึ่ง คนที่ถือเอาพระจุฬามณีไป ก็จักซุกมากับฟ่อนฟางหรือก้อนดินนั้นนำมาโยนไว้ แล้วให้อำมาตย์ตรวจค้นดู วันแรกถ้ายังไม่พบ ก็พึงให้ทำเช่นนี้สัก ๓ วัน ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะไม่พลอยลำบากด้วย "

พระราชารับสั่งให้ทำเช่นนั้นตลอด ๓ วัน ไม่มีใครนำแก้วจุฬามณีมาคืนเลย พระเถระถวายพระพรอีกว่า
" ถ้าเช่นนั้น โปรดรับสั่งให้ตั้งตุ่มใหญ่บรรจุน้ำเต็มไว้ในท้องพระโรง ทำม่านกั้นบังไว้แล้วให้ผู้คนทุกคนในพระราชวัง ห่มผ้าแล้วเข้าไปในม่านล้างมือที่ตุ่มทีละคนแล้วออกมา "

พระราชารับสั่งให้ทำเช่นนั้นปรากฏว่า ได้แก้วจุฬามณีกลับคืนมา ทรงดีพระทัยยิ่งนัก ผู้คนอาศัยพระเถระจึงพ้นจากทุกข์ได้ เรื่องนี้ทราบไปถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์ เกิดเป็นอำมาตย์ในเมืองพาราณสี วันหนึ่ง พระราชา เสด็จประภาสอุทยาน เมื่อจะทรงอุทกกีฬา รับสั่งให้พวกสตรีเปลื้องอาภรณ์เครื่องประดับไว้กับหญิงรับใช้ แล้วลงสู่สระน้ำ ขณะนั้น มีนางลิงขาวตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในอุทยานนั้น ขณะหญิงรับใช้หลับ ได้ลักเอาสร้อยมุกดาแล้วกระโดดขึ้นต้นไม้นำไปซุกซ่อนไว้ในโพรงไม้แห่งหนึ่ง

ครั้นนางหญิงรับใช้ตื่นขึ้นมาไม่เห็นสร้อยมุกดา ก็ตัวสั่นจึงร้องตะโกนว่า

" มีคนแย่งสร้อยมุกดาของพระเทวีหนีไปแล้ว "

พวกทหารจึงรีบวิ่งตามจับโจร ขณะนั้น มีชายบ้านนอกคนหนึ่งเดินผ่านมา พอได้ยินเสียงนั้นก็ตกใจวิ่งหนี พวกทหารเห็นเขาหนีจึงวิ่งตามจับมาได้ ด้วยความกลัวตายชายคนนั้น จึงยอมรับว่า ได้ขโมยไปจริง เมื่อถูกถามหาว่านำไปไว้ไหน ก็บอกว่า มอบให้เศรษฐีไปแล้ว พระราชารับสั่งให้เศรษฐีมาเฝ้า เศรษฐีก็กราบทูลว่าได้มอบให้ปุโรหิตไปแล้ว ฝ่ายปุโรหิตก็กราบทูลว่าได้มอบให้คนธรรพ์ไปแล้ว คนธรรพ์ก็กราบทูลว่าได้มอบให้นางวัณณทาสีไปแล้ว ส่วนนางวัณณทาสีกราบทูลว่า มิได้รับไว้ เมื่อสอบสวนคนทั้ง ๕ คนกว่าจะทั่วทุกคน พระอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าไปแล้ว พระราชาจึงรับสั่งว่า

" ต้องรู้เรื่องในวัน พรุ่งนี้ " จึงมอบคนทั้ง ๕ ให้อำมาตย์แล้วเสด็จกลับเข้าสู่พระนคร

ฝ่ายอำมาตย์คิดว่า " เครื่องประดับหายภายในสวน ส่วนคนเหล่านี้เป็นคนภายนอก การอารักขาก็เข้มแข็ง โอกาสที่คนข้างนอกหรือคนรับใช้ในสวนจะลักไม่มีวี่เเววเลย คำยอมรับของพวกเหล่านี้ ก็เพื่อปลดเปลื้องตนจากความผิดเท่านั้น สวนนี้มีลิงอาศัยอยู่มาก เครื่องประดับคงตกอยู่ในมือของลิงตัวหนึ่งเป็นแน่ "

จึงขอให้มอบโจรทั้ง ๕ คนแก่ตน แล้วนำไปขังไว้ในห้องเดียวกัน สั่งให้ทหารแอบฟังดูว่า

" พวกโจรนี้จะปรึกษาอะไรกันบ้าง "

พอตกดึก เศรษฐีจึงถามชายบ้านนอกว่า
" มึงเคยพบกูที่ไหน มึงเคยให้เครื่องประดับกูตั้งแต่เมื่อไร ? "

ส่วนชายบ้านนอกรีบขอโทษแล้วกล่าวว่า
" ผมก็ไม่รู้จักสร้อยมุกดาด้วยซ้ำไป ที่อ้างท่านก็เพราะจะอาศัยท่านรอดพ้นจากอันตราย "

ฝ่ายปุโรหิตก็ถามเศรษฐีว่า
" เมื่อชายคนนั้นไม่ได้มอบเครื่องประดับแก่ท่าน แล้วท่านเอามามอบให้ข้าพเจ้าตั้งแต่เมื่อใด "

เศรษฐีจึงกล่าวว่า
" ข้าพเจ้ากล่าวไปก็เพราะเราทั้งสองเป็นคนใหญ่คนโต ช่วยกันพูดการงานก็จะสำเร็จด้วยดี "

ปุโรหิตก็พูดกับคนธรรพ์ว่าที่ข้าพเจ้ากล่าวตู่ท่าน ก็เพื่อที่จะอาศัยท่านอยู่เป็นสุขในห้องขัง ส่วนคนธรรพ์ก็กล่าวกับนางวัณณทาสีว่า ที่ข้าพเจ้ากล่าวตู่ท่านก็เพื่อที่จะอาศัยท่านในเรื่องเพศสัมพันธ์ พวกเราจักไม่ต้องหงอยเหงาอยู่ร่วมกันอย่างสบาย

อำมาตย์ ฟังคำรายงานนั้นจากทหารแล้ว ก็ทราบแน่ชัดว่าคนทั้ง ๕ นั้นไม่ใช่โจร จึงสั่งให้ทำเครื่องประดับยางไม้ เสร็จแล้วให้จับลิงมาประดับหลายตัวแล้วปล่อยไป สั่งให้ทหารสังเกตดู พวกลิงที่ได้เครื่องประดับไปแล้วก็อวดเครื่องประดับกันเกรียวกราว นางลิงนั้น พอเห็นเพื่อนมีเครื่องประดับก็ทนไม่ได้ จึงไปนำสร้อยมุกดามาประดับอวดตน พวกทหารเห็นเช่นนั้น จึงนำกลับมามอบให้แก่อำมาตย์

อำมาตย์ ได้นำสร้อยมุกดาเข้ากราบทูลแด่พระราชาและกราบทูลความจริงให้ทรงทราบ พระราชาทรงดีพระทัย เมื่อจะชมเชยอำมาตย์จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
" ยามคับขัน ประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ
ยามปรึกษาการงาน ต้องการคนไม่พูดพล่าม
ยามมีข้าวน้ำ ต้องการคนเป็นที่รักของตน
ยามเกิดปัญหา ต้องการบัณฑิต "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ใช้คนให้ถูกกับสถานการณ์

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

12,350






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย