อานิสงส์ของศีล (สีลานิสังสชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภอุบาสกผู้มีศรัทธาคนหนึ่งที่สามารถเดินข้ามแม่น้ำอจิรวดีไปฟังธรรมได้ด้วยอำนาจคุณของศีล ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยพระพุทธเจ้านามว่า กัสสปะ ในวันหนึ่งมีอุบาสกคนหนึ่งซึ่งเป็นพระโสดาบัน ได้โดยสารเรือไปค้าขายต่างเมืองกับช่างตัดผมคนหนึ่ง ก่อนออกเดินทาง ภรรยาของช่างตัดผมได้ฝากให้อุบาสกช่วยดูแลสามีของตนพร้อมกับสั่งว่า
"ท่านเจ้าค่ะ ขอท่านได้ช่วยดูแลสามีดิฉันด้วยนะคะ สุขทุกข์ของสามี ดิฉันขอมอบให้เป็นภาระของท่านก็แล้วกัน"
เรือออกเดินทางไปได้ ๗ วัน ก็เจอพายุกระหน่ำจนเรืออับปางลงกับทะเลราวกับเรือไทนานิคล่ม ชายทั้ง ๒ ได้เกาะแผ่นกระดานแผ่นหนึ่งลอยคอจนมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง ด้วยความหิวนายช่างตัดผมได้ฆ่านกปิ้งกินและชวนอุบาสกกินด้วยกัน แต่อุบาสกไม่กินเพราะคิดว่า "สถานการณ์เช่นนี้ มีแต่พระรัตนตรัยเท่านั้นจะเป็นที่พึ่งเราได้" จึงนั่งระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอยู่
ขณะนั้นพญานาคผู้บนเกาะนั้นได้เนรมิตร่างเป็นเรือลำใหญ่ มีเทวดาประจำทะเลเป็นต้นเรือ บรรทุกทรัพย์สินเงินทองเต็มลำ มีเสากระโดงทำด้วยแก้วมณีสีอินทนิล ใบเรือทำด้วยทองเชือกทำด้วยเงิน แล่นมาที่เกาะนั้น พร้อมประกาศว่า
"มีใครจะไปด้วยไหม"
อุบาสกร้องตอบว่า "ข้าพเจ้าจะไปด้วย"
นายต้นเรือพูดว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านขึ้นมาเถอะครับ"
อุบาสกจึงชวนนายช่างตัดผมขึ้นเรือไปด้วยกัน แต่นายต้นเรือร้องห้ามไว้ว่า "ขึ้นมาได้เฉพาะท่านคนเดียวเท่านั้น อีกคนหนึ่งขึ้นไม่ได้"
อุบาสกถามว่า "ทำไมละท่าน"
นายต้นเรือตอบว่า "เพราะคนนั้นไม่มีศีลจึงรับไปด้วยไม่ได้ เรือลำนี้รับเฉพาะคนมีศีลเท่านั้น"
อุบาสกพูดว่า "เอาเถอะ ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอแบ่งให้ส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้รักษาศีลให้แก่เขาก็แล้วกัน"
นายช่างตัดผมก็รับคำอนุโมทนาในบุญกุศลว่า "ข้าพเจ้าขออนุโมทนา"
เทวดาจึงนำชายทั้ง ๒ ขึ้นเรือแล้วนำไปส่งจนถึงฝั่งพร้อมทั้งมอบทรัพย์สมบัติให้อีกด้วย แล้วกล่าวให้โอวาทเป็นคาถาว่า
"ดูเถิด นี่แหละผลของศรัทธา ศีล และจาคะ พญานาคแปลงตนเป็นเรือนำอุบาสกผู้มีศรัทธาไป บุคคลพึงคบหาสัตบุรุษเท่านั้น พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะการอยู่ร่วมกับสัตบุรุษนายช่างตัดผมจึงถึงความสวัสดี"
เมื่อกล่าวจบก็พาพญานาคกลับวิมานของตนไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ผู้มีศีลตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม