เรือนจำที่แท้จริง (พันธนาคารชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภเรือนจำสำหรับคุมขังผู้ตน ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลายเครื่องจองจำเหล่านั้นไม่นับว่าเป็นเรือนจำที่แท้จริง ส่วนเครื่องผูกคือกิเลสตณหาในทรัพย์สมบัติ บุตรและภรรยา ถือเป็นเรือนจำที่แท้จริง มั่นคงยิ่งกว่า ตัดได้ยากกว่า โบราณบัณฑิตได้ตัดเรือนจำนี้ได้แล้วออกบวช"
แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกชายโทนของตระกูลคหบดีเก่าแก่ แต่ยากจนตระกูลหนึ่ง พอบิดาเสียชีวิตแล้วเขาก็ได้ออกรับจ้างหาเลี้ยงมารดา อยู่ต่อมาพอเขาแต่งงานแล้วมารดาก็เสียชีวิตไปอีกคน ใจจริงแล้วเขาไม่อยากจะแต่งงานอยากบวชมากกว่า เพราะมองเห็นความลำบากของตนเอง แต่ก็ต้องแต่งงานตามใจมารดาเท่านั้น
ต่อมาไม่นาน ภรรยาของเขาตั้งครรภ์ เขาไม่รู้ว่านางตั้งครรภ์จึงพูดกับนางในวันหนึ่งว่า
"นี่น้อง เธอจงดูแลตัวเองนะ พี่จะไปบวชละ"
ภรรยาบอกว่า "พี่..ฉันท้องแล้วนะ เมื่อฉันคลอดลูกแล้วพี่ค่อยบวชเถิด"
เขาจึงอยู่ต่อจนนางคลอดลูกแล้วจึงพูดอำลานางอีกว่า
"น้อง..พี่จะออกบวชแล้วนะ ขอให้เธอดูแลลูกน้อยนะ" นางขอร้องว่า "พี่..ขอให้ลูกหย่านมก่อนเถอะ พี่ค่อยไป"
ต่อมาอีกสองสามเดือนภรรยาก็ตั้งครรภ์อีก เขาคิดว่า
"ถ้าขืนเรามัวแต่อำลานางอยู่เช่นนี้ก็คงจะไม่ได้บวชหรอก เราต้องหนีไปบวชในคืนนี้ละ"
พอถึงเวลาเที่ยงคืนก็แอบหนีออกจากบ้านไปบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ป่าแห่งหนึ่ง
วันหนึ่ง ฤาษีนั้นขณะนั่งบำเพ็ญเพียรได้รำลึกถึงชีวิตของตนเอง จึงเปล่งอุทานเป็นคาถาว่า
"นักปราชญ์ไม่กล่าวเครื่องผูกที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้องว่าเป็นเครื่องผูกที่มั่นคง ส่วนความกำหนัดยินดีในแก้วมณีและต่างหูก็ดี ความห่วงใยในบุตรและภรรยาก็ดี, นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกที่ประกอบด้วยกิเลสนั่นว่าเป็นเครืองผูกที่มั่นคง ทำให้สัตว์ตกต่ำ ย่อหย่อนแก้ได้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูกนั้นได้ขาด หมดความห่วงใย ละกามสุข หลีกออกไปได้"
ฤาษีบำเพ็ญเพียรอยู่เช่นนี้จนสิ้นชีวิตไปเกิดที่พรหมโลกในที่สุด
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : เรือนจำ (เครื่องผูก) ที่แท้จริงของมนุษย์คือ ลูกภรรยา สามี และทรัพย์สินศฤงคาร
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม