กากินน้ำทะเล (สมุททชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระอุปนันทเถระผู้ไม่รู้จักพอแล้วเที่ยวสอนภิกษุอื่นให้รู้จักพอ จึงตรัสพระคาถาว่า
" บุคคลควรตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วพึงสั่งสอนผู้อื่นในภายหลัง
บัณฑิตจะไม่พึงเศร้าหมอง "
แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเทวดารักษาสมุทร สมัยนั้นมีกาน้ำตัวหนึ่งบินเที่ยวหากินอยู่ในมหาสมุทรนั้นมักร้องห้ามฝูงนกฝูงปลาว่า
" ท่านทั้งหลาย จงดื่มกินน้ำทะเลเพียงเล็กน้อยนะ ช่วยกันประหยัดน้ำทะเลด้วย "
เทวดาเห็นพฤติกรรมของมันแล้วจึงถามไปว่า
" ใครนะ ช่างบินวนเวียนอยู่แถวนี้ เที่ยวร้องห้ามฝูงนกฝูงปลาอยู่ ท่านจะไปเดือดร้อนอะไรกับน้ำทะเลด้วยละ "
มันจึงตอบว่า " ข้าพเจ้าคือกาผู้ไม่รู้จักอิ่ม ปรารถนาจะดื่มน้ำทะเลผู้เดียว กลัวว่าน้ำทะเลจะหมดก่อน จึงต้องร้องห้ามอย่างนั้น "
เทวดาได้ฟังเช่นนั้นจึงกล่าวเป็นคาถาว่า
" ทะเลใหญ่นี้จะลดลงหรือเต็มอยู่ก็ตามที
ที่สุดของน้ำแห่งทะเลใหญ่นั้นที่บุคคลดื่มแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้
ทราบว่า สาครอันใคร ๆ ไม่อาจดื่มให้หมดสิ้นไปได้ "
ว่าแล้วก็แปลงร่างเป็นรูปที่น่ากลัวขับไล่กาน้ำนั้นให้หนีไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : อย่าไปพะวงอะไรกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้จิตฟุ้งซ่านไปเปล่า ๆ
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม