ราคาข้าวสาร (ตัณฑุลนาฬิชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระโลฬุทายีเถระ
ผู้ไม่รู้เรื่องในวิธีการให้สลากภัต ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยของพระเจ้าพรหมทัต ครองเมืองพารารณสี แคว้นกาสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพนักงานตีราคา ทำหน้าที่ตีราคาแลกเปลี่ยนสินค้าในพระคลังหลวงด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
พระราชามีความโลภทรงดำริว่า " ถ้าเป็นเช่นนี้ ไม่นานทรัพย์ในท้องพระคลังจักหมดสิ้นไป "
จึงตั้งชายชาวบ้านผู้โง่เขลา ผู้หนึ่ง เป็นพนักงานตีราคาแทนพระโพธิสัตว์นั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์มักจะอยู่เบื้องหลังการตีราคาสินค้าเสมอ มักตีราคาเอาตามความชอบใจ
วันหนึ่ง มีพ่อค้าม้าคนหนึ่ง นำม้า ๕๐๐ ตัว มาจากแคว้นอุตตราปถะเพื่อแลกเปลี่ยน ถูกพนักงานตีราคาม้า ๕๐๐ ตัว ด้วยข้าวสารทะนานเดียว ทำให้พ่อค้าเสียใจเป็นอย่างมาก จึงเดินทางไปที่บ้านของพระโพธิสัตว์เพื่อปรึกษาขอความเป็นธรรม พระโพธิสัตว์จึงแนะนำให้พ่อค้าม้าติดสินบนพนักงานตีราคาแล้วให้เขาตีราคาข้าวสารทะนานหนึ่งใหม่ เมื่อปรึกษากันเช่นนั้นแล้วก็ชวนกันไปเข้าเฝ้าพระราชาพร้อมอำมาตย์และประชาชนเป็นจำนวนมาก พร้อมให้พนักงานตีราคาข้าวสารทะนานหนึ่งใหม่
พ่อค้าม้าได้กราบทูลพระราชาว่า " ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทราบว่า ม้า ๕๐๐ ตัว มีราคาเท่าข้าวสารหนึ่งทะนาน แต่ข้าวสารทะนานนี้ มีราคาเท่าไร ? ขอพระองค์โปรดถามพนักงานตีราคาเถิด พระเจ้าข้า "
เมื่อพระราชาถามพนักงานตีราคา เขาจึงกราบทูลว่า " ข้าวสารทะนานนี้ มีราคาเท่ากับเมืองพาราณสีทั้งเมือง พะย่ะค่ะ "
พระโพธิสัตว์ ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงถามเป็นคาถาว่า
" ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ตรัสว่า ข้าวสาร ๑ ทะนานมีราคาเท่ามูลค่าม้า ๕๐๐ ตัวหรือ
และข้าวสาร ๑ ทะนานนี้มีค่าเท่ากับกรุงพาราณสีทั้งภายในภายนอกเชียวหรือ "
พวกอำมาตย์และประชาชนทั้งหลายเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงพากันตบมือหัวเราะเยาะเย้ยว่า
" เมื่อก่อนพวกเราเข้าใจว่า แผ่นดินและราชสมบัติเมืองพาราณสีนี้มีค่าหาประมาณมิได้ แต่ที่ไหนได้ กลับมีค่าเพียงข้าวสารทะนานเดียวเท่านั้นหรือ โอ ! ท่านช่างเหมาะสมกับพระราชาเราเสียจริง ๆนะ "
พระราชาทรงละอายพระทัยยิ่ง จึงรับสั่งให้ขับไล่พนักงานตีราคานั้นหนีไป ทรงแต่งตั้งให้พระโพธิสัตว์เป็นพนักงานตีราคาเหมือนเดิม
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : โลภมาก มักลาภหาย
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม