คำว่า "บุญ" แปลว่า ความสุข ความดี ความสะอาด ความผ่องแผ้วแห่งจิต
คำว่า "การทำบุญ" หมายถึง การทำกิจใดๆ เพื่อให้ได้บุญ คือ เพื่อให้ได้ความสุขกายสบายใจ
กิจที่ทำนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น โดยถูกทำนองคลองธรรม สำหรับคำว่า "การ
บำเพ็ญบุญ" มีความหมายเช่นเดียวกับ "การทำบุญ"
วิธีการทำบุญ เพื่อจะให้ได้บุญนั้น มีอยู่ ๓ วิธี โดยจำแนกตามจิต รวมเรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ
๓ อย่าง" คือ
๑. ทานมัย วิธีการทำบุญด้วยการบริจาคทาน เป็นเรื่องของจิตเกี่ยวเนื่องกับสิ่งของที่จะทำทาน
มีหน้าที่กำจัดกิเลสอย่างหยาบคือความโลภได้ ผู้ที่ได้บุญจากทานมัยย่อมเป็นคนกว้างขวาง เป็น
ที่รักและเคารพของปวงชน สมานไมตรีกันไว้ได้ทุกชั้น ทั้งยึดถือประโยชน์ของคนที่มีทรัพย์ได้
ด้วย เราจำแนกทานออกเป็น ๒ อย่างคือ
๑.๑ อามิสทาน เป็นการสละทรัพย์ของตนแก่คนทั้งหลาย ด้วยอัธยาศัยเมตตาเผื่อแผ่ เช่น ถวาย
ทานแด่พระภิกษุสามเณร คนชรา ขอทาน ผู้ตกยาก เป็นต้น
๑.๒ ธรรมทาน เป็นการแนะนำสั่งสอนชี้แจงให้ผู้อื่นรู้จักบาปบุญคุณโทษ ให้วิชาความรู้ ดัง
พุทธภาษิตที่ว่า "สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ" แปลว่า การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้
ทั้งปวง
๒. สีลมัย วิธีการทำบุญด้วยการรักษาศีล เป็นเรื่องของจิตเกี่ยวเนื่องกับกายวาจา สีลมัยมีหน้าที่
กำจัดกิเลสอย่างกลาง คือความโกรธได้ ผู้ที่ได้บุญจากสีลมัยย่อมเป็นที่รักและเคารพของชนทั้ง
หลาย หมดความรังเกียจซึ่งกันและกัน ทั้งทำให้เป็นคนองอาจด้วย สีลมัยจำแนกเป็น
๒.๑ ศีล ๕ สำหรับสามัญชนทั่วไป
๒.๒ ศีล ๘ หรือ อุโบสถศีล สำหรับอุบาสกอุบาสิกา
๒.๓ ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร
๒.๔ ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ
ปกติคนที่ถูกโทสะครอบงำจิตย่อมจะเดือดร้อนใจ มักจะเสียความประพฤติทางกาย และ
วาจา จำต้องรักษาศีลควบคุมกายวาจาให้สงบ ตลอดจนคลุมจิตใจให้เป็นปกติหายโทสะ จิตจึง
จะเป็นบุญ
๓. ภาวนามัย วีธีการทำบุญด้วยการภาวนา เป็นเรื่องของจิตอย่างเดียว ผู้ที่ได้บุญจากการ
ภาวนามัย ย่อมเป็นคนหนักแน่นมั่นคง แม้กระทบกระทั่งอารมณ์ใดๆ ย่อมจะไม่หวั่นไหวไปตาม
อารมณ์นั้นๆ การภาวนา เป็นการอบรมจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีและให้ฉลาด สำหรับคนทั่ว
ไป ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียน หมั่นฟัง หมั่นคิด หมั่นท่องบ่นหลักวิชาการต่างๆ หมั่นสนทนากับ
ท่านผู้รู้จนเกิดความฉลาด การภาวนาที่ละเอียดมากขึ้น ได้แก่
๓.๑ สมถภาวนา (สมถกัมมัฏฐาน) คือการทำจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว ด้วยการสำรวม ความ
ระวัง และตั้งใจ
๓.๒ วิปัสสนาภาวนา (วิปัสสนากัมมัฏฐาน) คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งในสังขารธรรม
ทั้งปวง ด้วยความฝึกฝน ความทรมาน ความดัดสันดานและด้วยความข่มใจ
ภาวนามัยเป็นข้อสำคัญที่สุดในบุญกิริยาทั้งหลาย เพราะยึดบุญกิริยานั้นๆ ให้คงอยู่ได้ด้วย
แกนเหล็กที่ตั้งอยู่ ณ ภายในทำของที่หุ้มอยู่ ณ ภายนอกให้มั่นคงฉะนั้น อันความงามความดีที่
จะเป็นผล ซึ่งบุคคลที่ประพฤติให้ปรากฏออกภายนอกด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ต้องมีภาวนา
เป็นสารอยู่ภายใน ย่อมเป็นไปดังสุคนธชาติ เป็นต้นว่า เนื้อไม้ที่อบไว้เป็นอันดี เพราะเหตุนั้น
กุศลราศีที่บุคคลทำให้มีขึ้นโดยสนิทใจ ได้ชื่อว่าภาวนาเพราะใจความว่าเป็นเครื่องอบรมกุศล
ให้มีขึ้นในสันดาน