ค้นหาในเว็บไซต์ :

ศีล
โดย : พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์

เรื่องที่ ๒๖ : หลักการของศีลข้อที่ ๕


สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาท

ความมุ่งหมาย การบัญญัติศีลข้อนี้ เพื่อให้คนรู้จักรักาาสติของตนให้สมบูรณ์

ข้อห้ามโดยตรง คือห้ามดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือทำให้สติฟั่นเฟือน น้ำเมาที่ว่า นี้ ได้แก่

๑. สุรา ได้แก่น้ำเมาที่กลั่น ไทยเรียกว่า เหล้า
๒. เมรัย ได้แก่น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เช่น เหล้าดิบ กระแช่ น้ำตาลเมา ฯลฯ ฝิ่น กัญชา ก็ห้ามรวม อยู่ในข้อนี้ด้วย

หลักวินิจฉัย
สุราปานะ ( การดื่มสุรา ) จะต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. มะทะนียัง......สิ่งนั้นเป็นน้ำเมา
๒. ปาตุกัมมะยะตาจิตตัง........จิตคิดจะดื่มน้ำเมา
๓. ตัชโช วายาโม........พยายามดื่มน้ำเมา
๔. ปิตัปปะเสวะนัง......น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป

หมายความว่า การดื่มสุราเมรัยที่ทำให้ศีลขาด จะต้องพร้อมด้วยองค์ทั้ง ๔ นี้ครบทุกข้อ ถ้าไม่ครบ ศีลก็ไม่ขาด เช่น

องค์ที่ ๑ หมายความว่า น้ำที่ดื่มนั้นต้องเป็นน้ำเมา ถ้าคิดจะดื่มเหล้า แต่เข้าใจผิด เห็นแก้ว น้ำชาเป็นแก้วเหล้า จึงคว้าเอามาดื่ม อย่างนี้ศีลไม่ขาดหรืออย่างการปรุงสุรา ลงไปในอาหาร หรือยาแก้โรคเพื่อชูรส หรือให้ยา มีประสิทธิภาพดี ผู้กินอาหารหรือรับประทานยานั้น ไม่มี เจตนาจะดื่มเหล้า อย่างนี้ศีลไม่ขาด ( แต่ให้เป็นเหล้ากระสายยา ไม่ใช่ยากระสายเหล้า )

องค์ที่ ๒ หมายความว่า ตัวผู้ดื่มนั้น ตั้งใจจะดื่มเหล้าจริงๆ แล้วดื่ม ศีลจึงขาด ถ้าคิดจะดื่มน้ำ แต่เข้าใจผิด เห็นแก้วเหล้าเป็นแก้วน้ำชา จึงยกดื่มลงไป ศีลก็ไม่ขาด

องค์ที่ ๓ ที่ว่าพยายามดื่ม คือดื่มด้วยตนเอง ตัวเองดื่มเอง ที่ว่าพยายามในที่นี้ หมายเอาการ ดื่มนั่นเอง คืออ้าปากขึ้น ดูดเอาน้ำเหล้าจากแก้วเข้าปาก แล้วก็กลืนลงคอไป อย่างนี้เรียกว่า พยายาม ตามความหมายในที่นี้ คนที่ไปไหนมาไหน แล้วเจอเพื่อน ถูกเขาคะยั้นคะยอให้ดื่ม ถ้าจะถือว่าตนไม่ได้พยายาม ไม่ได้ เพราะคำว่าพยายามนั้น ถือเอาตรง อมเข้าปากและกลืนลง คอเป็นสำคัญ แต่ถ้าหากเราไม่ได้พยายามเลย ถูกบังคับโดยวิธี อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นถูกฉีด เหล้าเข้าไปในตัว ( ถ้าหากจะมี ) ก็ไม่ผิดศีล

องค์ที่ ๔ กำหนดขีดสมบูรณ์แห่งการกระทำ ที่ว่าศีลขาดๆนั้น ขาดตรงไหน? ตอนยกแก้ว ขึ้น หรือตอนอมเหล้าเข้าปาก หรือตอนกลืน หรือตอนเมา หรือตอนไหนกันแน่? ท่านจึง กำหนดเอาตอนน้ำเหล้าไหลล่วงลำคอลงไป เป็นจุดสำคัญ หรือจุดสมบูรณ์ของการดื่ม ถ้า ตอนแรกคิดจะดื่ม แต่พออมเหล้าเข้าปากแล้ว สำนึกถึงศีลขึ้นมาได้ จึงบ้วนทิ้งเสีย ศีลก็ยัง ไม่ขาด

โปรดทราบด้วยว่า ของเมาที่ห้ามนั้น เฉพาะที่ทำให้ผู้ที่เสพสติฟั่นเฟือน ซึ่งเรียกว่า "เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท" เท่านั้น




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย