ค้นหาในเว็บไซต์ :

ศีล
โดย : พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์

เรื่องที่ ๘ : หลักวินิจฉัยศีลข้อที่ ๒


หลังจากที่ได้พูดถึงเรื่องความหมายของโจรกรรม มาซะหลายตอน ตอนนี้ก็มาถึงช่วงสำคัญ ที่จะพูดถึงหลักวินิจฉัย ว่าการขาดศีลข้อที่ ๒ นี้ จะต้องประกอบด้วยเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ? ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่าน พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ท่านก็ได้ให้คำตอบไว้ว่า

"ศีลข้ออทินนาทานจะขาด ก็ต่อเมื่อมีการกระทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้อดังต่อไปนี้คือ

๑. ปรปริคฺคหิตํ.......................ของนั้นมีเจ้าของหวง
๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา.........ตนก็รู้ว่า ของมีเจ้าของหวง
๓. เถยฺยจิตฺตํ...........................มีจิตคิดจะลัก
๔. อุปกฺกโม.............................พยายามเพื่อจะลัก
๕. เตน หรณํ...........................นำของนั้นมาสำเร็จ ด้วยความพยายามนั้น

ขยายความ

องค์ที่ ๑ ที่ว่าของนั้นมีเจ้าของหวง หมายความว่า เป็นของที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้เป็นเจ้าของนั้น อาจเป็นบุคคลธรรมดาก็ได้ อาจเป็นนิติบุคคล เช่น ของวัด ของสมาคม หรือ ชุมชนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น

ของวัด เช่นที่ดิน กุฏิ วิหาร โบสถ์ เงินทุน และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นของวัดใด คณะ สงฆ์วัดนั้นเป็นเจ้าของ แม้ว่าวัดจะร้าง พระไม่มีแล้ว ของนั้นก็เป็นสมบัติของศาสนา

ของประเทศชาติ หรือของรัฐ เช่นแม่น้ำ ลำคลอง ถนน สะพาน เสาโทรเลข ที่ดินของหลวง ป่าไม้หวงห้าม เงินหลวง ฯลฯ ซึ่งประเทศชาติบ้านเมือง ได้มีพระราชกำหนดกฎหมาย หวงห้ามไว้

ของสมาคมหรือชุมชน คือของที่คนหลายคนร่วมกันเป็นเจ้าของ จัดทำขึ้น หรือก่อตั้งไว้ เช่น พร้อมใจกันลงแรงลงทุนทำกิจการต่างๆ สมาคมหรือกลุ่มชนนั้นย่อมเป็นเจ้าของ

องค์ที่ ๒ หมายความว่า เราก็รู้ว่าของที่เราจะถือเอานั้น มีเจ้าของ ไม่ใช่ไม่รู้ หรือจะค้าขาย สินค้าที่ต้องห้ามบางอย่าง เราก็รู้ว่าท่านห้าม หรือรู้ว่าจะต้องเสียภาษีอากรอย่างไร ถ้าไม่รู้ จริงๆ ถึงทำลง ศีลก็ไม่ขาด แม้ว่ากฎหมายจะไม่ยกเว้นให้คนไม่รู้ก็ตาม แต่ทางศาสนายกเว้น ให้ ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่าของนั้นมีเจ้าของ หรือมีกฎหมายควบคุม ศีลไม่ขาด

องค์ที่ ๓ หมายถึงเจตนา คือคนที่หยิบของเขาไปนั้น เจตนาอย่างไร คิดว่าอย่างไร ถ้าคิดว่า ลักเอา ความคิดที่จะลักเอานี้ เรียกตามภาษาทางวินัยพระว่า "เถยยจิต" เถยยจิต เป็นหลัก วินิจฉัยอทินนาทาน ที่แน่นอนจะยืม ศีลก็ไม่ขาด คิดว่าจะเก็บไว้ให้ ศีลก็ไม่ขาด ศีลขาดด้วย เจตนาอย่างเดียวคือ คิดว่าจะลักเอา ความคิดที่จะลักเอานี้ เรียกตามภาษาทางวินัยพระว่า "เถยยจิต" เถยยจิต เป็นหลักวินิจฉัยอทินนาทาน ที่แน่นอน

องค์ที่ ๔ หมายถึงความพยายาม คำว่าพยายามในที่นี้ คือลงมือทำนั่นเอง เช่นยื่นมือไปหยิบ ของนั้น หรือก้าวเท้าเดินไป หรืออ้าปากขึ้น กล่าวตู่เอาของ รวมความว่า ไม่ใช่เพียงแต่คิดจะ ลักเฉยๆ แต่ได้ทำทางกายวาจาประกอบด้วย

องค์ที่ ๕ หมายถึงการได้ของนั้น การได้ของทางวินัย ไม่ใช่ว่าจะต้องได้ของนั้น มากินมาใช้ เท่านั้น แต่หมายถึงทำให้ของนั้นหลุดลอยจากกรรมสิทธิ์เจ้าของเดิม หรือแม้ทำให้เคลื่อนที่ ศีลก็ขาดในขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น ขโมยสัตว์พาหนะ พอสัตว์นั้นยกเท้าครบสี่เท้า ถือว่า ของเคลื่อนที่ ผู้ลัก ศีลขาดจากหลักวินิจฉัยทั้งห้านี้ ท่านจะเห็นได้ว่า การที่จะวินิจฉัยว่า ศีลขาดหรือไม่ ? ย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้นั้นเอง มิได้เอาหลักฐานพยานภายนอก มาเป็น เครื่องตัดสินเหมือนทางกฎหมาย โดยนัยนี้คนบางคน ที่ถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์ และต้อง จำนนด้วยหลักฐานของโจทก์ ถึงกับติดคุกติดตะราง แต่ศีลของเขาอาจบริสุทธิ์อยู่ก็ได้และ ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ทำโจรกรรม แต่ศาลตัดสินปล่อยตัว ให้พ้นข้อหา เพราะหลักฐานอ่อน ไม่พอลงโทษแต่ศีลของเขาอาจไม่บริสุทธิ์ ก็เป็นได้ เมื่อทราบหลักวินิจฉัยแล้ว ตอนต่อไป เราจะพูดถึงเหตุผลของศีลข้อนี้ ในแง่มุมต่างๆ ขอได้โปรดติดตาม.




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย