ค้นหาในเว็บไซต์ :
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่กัมพูชา

พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา


ดินแดนประเทศกัมพูชา หรือเขมรนั้น ในอดีตหลายพันปีมาแล้ว เป็นถิ่นฐานของชนชาติมอญ-เขมร อาศัยอยู่ สันนิษฐานว่า อพยพมากจากอินเดีย ผ่านเข้ามาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของคาบสมุทรอินโดจีน แล้วกระจายกันอยู่ กระจัดกระจาย มีอำนาจครอบครองดินแดนคาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด ได้ผสมผสานกับคนในท้องถิ่นเดิม และกับคนที่อพยพมาทีหลัง ทั้งในชาติพันธุ์ และทางวัฒนธรรมมีความเจริญเพิ่มขึ้นตามลำดับ ต่อมาได้มีชนอินเดียเข้ามาติดต่อค้าขาย และได้นำเอาวัฒนธรรมอินเดียมาเผยแผ่ด้วย ทำให้กัมพูชารับเอาวัฒนธรรมอินเดียมาด้วย

 

เมื่อพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาสู่สุวรรณภูมิ ดินแดนแถบประเทศกัมพูชา เป็นดินแดนแห่งแรกที่ได้เอาพุทธศาสนาจากอินเดีย และได้รับอิทธิพลในด้านความเจริญทางด้านจิตใจมาจากประเทศอินเดีย ศาสนาแรกที่เป็นศาสนาสำคัญของชาวกัมพูชา คือ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาที่รองลงมา คือ พระพุทธศาสนา ศาสนาทั้งสองนี้ ได้วางรากฐานลงในประเทศนี้เป็นครั้งแรก และในปัจจุบันนี้ ก็ยังแผ่อิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง ประชากรส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาทั้งสองนี้อยู่ ตามประวัติศาสตร์ของกัมพูชา จัดได้เป็น ๔ ยุค จะได้กล่าวถึงพุทธศาสนาในยุคต่าง ๆ ดังนี้

 

ยุคฟูนัน (Funan, Founan)หรืออาณาจักรพนมหรือยุคก่อนเขมร (พ.ศ.๖๐๐-๑๑๐๐)

"ฟูนัน" เป็นภาษาจีน สันนิษฐานว่า เพี้ยนมาจากคำเขมรว่า พนม ซึ่งแปลว่า ภูเขา ในสมัยนี้ชาวเขมรส่วนใหญ่ นับถือตามความเชื่อดั้งเดิม คือ นับถือตามบรรพบุรุษ ได้แก่ ถือลัทธิโลกธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ และผีสางนางไม้ จดหมายเหตุของจีน เรียก ฟูนัน เขมรนับถือทั้งศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา แต่ในราชสำนัก และชนชั้นสูง นับถือศาสนาฮินดู นิกายไศวะ เป็นหลัก

 

ลักษณะของฟูนันมีความคล้ายคลึงกับอินเดียมาก เพราะได้รับแบบแผนการปกครอง ศิลปะ การช่าง และวิทยาการต่าง ๆ จากชาวอินเดียในยุคฟูนันตอนปลายพระมหากษัตริย์ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ดังเอกสารฝ่ายจีนในราชวงศ์ชี้ทางภาคใต้ว่า กษัตริย์ฟูนันพระนามว่า เกาณฑินยะชัยวรมัน ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน ภายหลังทรงนับถือพุทธศาสนา ในรัชสมัยนี้ ได้มีพระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่ง ชื่อ พระนาคาหรือ พระนาคเสน ได้เดินทางไปยังประเทศจีน ได้แวะที่ฟูนันก่อน และได้ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่า ประเทศฟูนันนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ แต่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มีภิกษุสามเณรมาก และสมัยนี้ ได้มีพระภิกษุชาวฟูนัน ชื่อ สังฆปาละ ( พ.ศ. ๑๐๐๒ - ๑๐๖๕) เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระอภิธรรม ได้เดินทางไปสู่ประเทศจีน และได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระภิกษุอินเดีย ชื่อ คุณภัทร มีความแตกฉานในพุทธศาสนา เป็นที่เคารพศรัทธาของพระเจ้าจักรพรรดิบู่ตี่ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๐๔๖-๑๐๙๒) ทรงอาราธนาให้ท่านแปลคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นภาษาจีน เช่นคัมภีร์ "วิมุตติมรรค" ซึ่งแต่งโดยพระอุปติสสะเถระ และยังได้รับนิมนต์จากพระเจ้าบู่ตี่ ให้เป็นผู้สอนธรรมในราชสำนัก นับว่าเป็นชาวฟูนัน ที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง เป็นที่รู้จักในบรรดาประเทศต่าง ๆในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ พระเจ้าเกาณฑินยะวรมันได้ส่งพระมหาเถระเขมร ๒ องค์ ไปช่วยแปลพระไตรปิฎกจีน พระมหาเถระ ๒ องค์นี้เป็นนักปราชญ์รู้หลายภาษา โดยเฉพาะภาษาสันสกฤต องค์ที่เลิศมีเกียรติติดชื่ออยู่ในพระไตรปิฎกจีนนั่นคือ พระมหาเถระเสงโปโลสังฆปาละ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๐๖๗ ในประเทศจีน พระมหาเถระสังฆปาละได้แปลคัมภีร์วิมุตติมรรค อันเป็นคัมภีร์ของพระธัมมรุจิเถระ ในเกาะลังกา เป็นคัมภีร์คู่กับคัมภีร์วิสุทธิมรรค ของพระพุทธโฆสาจารย์ ซึ่งประเทศที่นับถือลัทธิมหายานต่างรู้จักชื่อท่านทั้งสองนี้ดีมาก พระเถระเขมรทั้งสองรูปได้ช่วยแปลพระไตรปิฎก ข้อความแห่งคำแปลนั้นมีผลงานเป็นภาษาจีนแท้ ใน พ.ศ. ๑๐๕๗ พระเจ้าอนุรุทธวรมันขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และได้ทรงประกาศถวายพระองค์เป็นอุบาสก ทรงมีพระเกศธาตุเส้นหนึ่งไว้เป็นที่สักการะบูชา พระเจ้าอนุรุทธวรมันเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ปรากฎนามในยุคฟูนัน ในระยะเวลานี้อาณาจักรเจนละซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฟูนันได้มีอำนาจมากขึ้น ได้ตั้งตัวเป็นอิสระ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๑๗๐ ก็ได้ยกกองทัพมาโจมตีรวมฟูนันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเจนละ

 

สมัยเจนละ ( พ.ศ. ๑๑๐๐ - ๑๓๔๔)

อาณาจักรเจนละตั้งอยู่ทางทิศเหนือของฟูนัน ถือว่าเป็นยุคของเขมรหรือกัมพูชาที่แท้จริง ซึ่งถือว่าได้เริ่มต้นในสมัยเจนละนี้ พระเจ้าวรมันเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกของสมัยเจนละ ราว พ.ศ. ๑๐๙๓ กษัตริย์ในยุคต้นยังคงนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นหลัก ต่อมาพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้มีกษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนา คือสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ (ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๑๙๓ - ๑๒๕๖) มีหลักฐานแสดงว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ มีศิลาจารึกที่วัดไพรเวียร ใกล้เมืองวยาธปุระ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๗ กล่าวถึงกษัตริย์สองพี่น้องที่บวชในพุทธศาสนา พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ ได้โปรดให้สร้างวัดถวาย หลักฐานจากข้อบันทึกของหลวงจีนอี้จิง ที่เดินทางไปอินเดียและผ่านทะเลใต้ว่า สมัยนั้นพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีวัดทั่วไปทุกแห่ง มีศาสนาพราหมณ์และพุทธอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ประชาชนทั่วไปนิยมบวชในพุทธศาสนา แม้พวกเจ้านายก็นิยมบวชเช่นเดียวกัน

 

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พุทธศาสนาแบบมหายาน ได้เข้ามาเผยแพร่ในเอเซีย อาคเนย์แล้ว และเขมรก็ยังได้รับเอาพุทธศาสนามหายานเช่นกัน แต่ก็ไม่มีอิทธิพลมากนัก เหมือนเถรวาท ดังบันทึกของหลวงจีนอี้จิง กล่าวว่า ภาคพื้นนี้มีนิกายพุทธศาสนามาก มีทั้งนิกายมูลสรรวาสติวาทิน เป็นนิกายในเถรวาท ในภาษาสันสกฤต

 

หลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันไม่นาน อาณาจักรเจนละก็แตกเป็น ๒ ส่วน กลายเป็นเจนละบก หรือเจนละเหนือ กับเจนละน้ำ หรือเจนละใต้ ในตอนปลายยุคเจนละน้ำตกอยู่ในอิทธิพลของชวา หลังจากแยกกันประมาณ ๑ ศตวรรษ ยุคเจนละก็สิ้นลงด้วยสาเหตุ ขัดแย้งกับอาณาจักรชวา กล่าวคือ ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร แห่งชวา ได้ยกทัพเรือมาตีเจนละ จับพระเจ้ามหิปติวรมันแห่งเจนละตัดพระเศียร ส่วนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ซึ่งขึ้นครองราชย์สืบมา ก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งอาณาจักรใหม่ที่อื่น ยุคเจนละจึงสิ้นสุดลง

 

 

สมัยมหานคร (พ.ศ. ๑๓๔๕ - ๑๙๗๕)

ยุคมหานคร ได้แก่ยุคที่นครวัต นครธม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาป และอยู่ทางเหนือของเมืองเสียมราฐ เป็นเมืองหลวงของกัมพูชา เป็นยุคที่อารยธรรมของขอมเจริญรุ่งเรืองมาก มีศิลปะและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ทางด้านศาสนา ปรากฏ ว่าพุทธ-ศาสนาฝ่ายมหายานเจริญรุ่งเรืองพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทคงเป็นที่นับถืออยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป ส่วนทางชั้นสูง หรือในราชสำนักนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน และถือลัทธิพราหมณ์

 

ในยุคนี้ได้มีธรรมเนียมถือศาสนาคนละอย่างระหว่างพระราชา กับ ปุโรหิต ถ้าพระราชาเป็นพุทธ ปุโรหิตเป็นพราหมณ์ หรือถ้าพระราชาถือพราหมณ์ ปุโรหิตถือพุทธ ถือเป็นประเพณีที่ยึดถือต่อกันมาหลายร้อยปี

 

ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๑๗๒๔ ทรงมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรืองที่สุด ทรงย้ายราชธานีไปที่ใดก็จะสร้างวัดวาอารามด้วย พระองค์ทรงเอาใจใส่ในกิจการพระพุทธศาสนามาก ทรงสร้างปราสาท และพระพุทธรูปจำนวนมากมาย ทรงสถาปนาปราสาทตาพรม เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีพระมหาเถระเป็นศาตราจารย์ใหญ่อยู่ถึง ๑๘ องค์ และอาจารย์รองลงมาถึง ๒,๗๔๐ องค์ เป็นผู้สอน พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ยังทรงให้ราชกุมารไปศึกษาพุทธศาสนาที่ลังกา แล้วทรงผนวชที่วัดมหาวิหารในปลายยุคมหานคร ศาสนาพราหมณ์ และมหายานเสื่อมถอยลง คงเหลือแต่เถรวาทที่เจริญรุ่งเรือง และได้รับการนับถือจากคนทุกระดับ ตั้งแต่กษัตริย์ลงไป

 

ยุคหลังพระนคร (พ.ศ. ๑๙๗๕-ปัจจุบัน)

ประเทศกัมพูชาในตอนต้นของยุคหลังพระนครได้สิ้นอำนาจลง เพราะได้เป็นเมืองขึ้นของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๓๗ ถึง พ.ศ.๒๑๖๑ พอได้รับเอกราชจากไทย ก็เกิดปัญหาสงครามกับเวียดนามบ้าง กับไทยบ้าง สงครามภายในบ้าง เป็นเมืองขึ้นของไทย และ เวียดนามด้วย จนกระทั่งใกล้ขึ้นศตวรรษที่ ๒๔ ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีบทบาทในอินโดจีน และใน พ.ศ. ๒๔๑๐ กัมพูชาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงได้อิสรภาพคืนมา และเรียกชื่อประเทศว่า พระราชอาณาจักรกัมพูชา มีเมืองหลวงชื่อ พนมเปญ มีกษัตริย์ครองราชย์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ พระนามว่า พระเจ้านโรดมสีหนุ

ในยุคหลังพระนครนี้ พุทธศาสนาแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ได้เสื่อมถอยลงไป คงเหลือแต่พุทธศาสนาเถรวาท และกษัตริย์ในยุคนี้จึงได้นับถือพระพุทธศาสนาเรื่อยมา กษัตริย์กัมพูชาได้ละทิ้งราชธานีมหานคร ไปสร้างราชธานีใหม่ที่เมือง สรีสันธอร์ ต่อมา พ.ศ. ๑๙๗๕ ได้ย้ายไปสร้างราชธานีใหม่ที่พนมเปญ จนถึงในปัจจุบัน ตั้งแต่การสร้างราชธานีใหม่ เป็นต้นมา เป็นเวลา ๔๐๐ ปี ประเทศกัมพูชาตกอยู่ในภาวะวิกฤต ทางสังคมอย่างรุนแรง ประชาชนทุกข์ยากมาก บ้านเมืองยับเยิน พระศาสนาเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากเกิดเรื่องภายใน มีการแย่งชิงราชสมบัติกัน ผู้คนล้มตายกันมากนครวัต นครธม ถูกปล่อยรกร้างอยู่ในป่า จนมี ชาวฝรั่งเศสไปพบเข้า

 

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ จึงได้ทำนุบำรุงรักษาอนุรักษ์ไว้ปี พ.ศ. ๒๓๘๔ พระเจ้าหริรักษ์รามาธิบดี ทรงเสวยราชย์ในกรุงอุดรเมียรชัย พระพุทธศาสนา กลับเจริญรุ่งเรืองอีก มีพระสงฆ์ชาวกัมพูชา เดินทางมาศึกษายัง กรุงเทพฯ กลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเขมร พระมหาวิมลธรรม (ทอง) ได้จัดการศึกษาของสงฆ์ไทยตั้ง "ศาลาบาลีชั้นสูง" ในกรุงพนมเปญ ได้แก่พุทธิกวิทยาลัยในปัจจุบัน จากนั้นเขมรก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเกือบ ๑๐๐ ปี การศาสนาก็ไม่เจริญรุ่งเรือง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงได้เอกราชคืนมา และเรียกชื่อประเทศว่าอาณาจักรกัมพูชา

พ.ศ. ๒๔๙๘ พระเจ้านโรดมสีหนุสละราชสมบัติให้พระเจ้านโรดมสุรามฤตพระบิดาขึ้นครองราชแทน พระองค์มาตั้งพรรคการเมืองชื่อ สังคมราษฎร์นิยม และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อพระบิดาสวรรคต จึงทรงเป็นประมุขรัฐโดยไม่ได้ครองราชย์ พระเจ้านโรดมสีหนุ ทรงคิดตั้งทฤษฎี พุทธสังคมนิยม โดยการปกครองที่ยึดหลักพุทธธรรมเป็นหลักในการบริหารประเทศ ในช่วงนี้ประเทศแถบเอเซียอาคเนย์กำลังอยู่ในภาวะการต่อสู้ ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์ กับลัทธิประชาธิปไตย พระเจ้านโรดมสีหนุ จึงถูกปฏิวัติโดย นายพลลอนนอล

 

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ได้เปลี่ยนราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสาธารณรัฐเขมร นายพลลอนนอลได้เป็นประธานาธิบดีคนแรก ทางด้านศาสนาก็ได้ส่งเสริมทำนุบำรุงจากรัฐเป็นอย่างดี พระสงฆ์เขมรหลายรูปได้มาศึกษาที่กรุงเทพ ฯ ได้นำแบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ไทยไปใช้ในกัมพูชา ดังสมเด็จพระสุคันธาธิบดี (ปาน) ได้ไปศึกษาที่กรุงเทพ ฯ แล้ว ได้นำแบบแผนของคณะธรรมยุติไปใช้ในกัมพูชา ทำให้พระสงฆ์ในกัมพูชา มี ๒ นิกาย เช่นไทย คือ นิกายธรรมยุต และมหานิกาย

 

ทางด้านการศึกษาของสงฆ์ก็ได้นำแบบแผนไปจากประเทศไทย เช่น มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่ตั้งขึ้นโดย เจ้านโรดมสีหนุ เรียกว่า "มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาพระสีหนุราช" มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และโท ตามลำดับ

 

พ.ศ. ๒๕๑๘ กัมพูชาได้ถูกกลุ่มเขมรแดงโดยการนำของนายพลพอล พต ได้เข้ายึดครองกัมพูชา ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์อย่างสุดโด่ง ได้บังคับขู่เข็ญประชาชนอย่างทารุณ ไร้ความเมตตาปราณี ประชาชนถูกสังหารประมาณ ๒ ล้านคน ในนี้รวมทั้งพระภิกษุสามเณรด้วย พระพุทธศาสนาถูกล้มล้างโดยลัทธิคอมมิวนิสต์

พ.ศ. ๒๕๒๒ เวียดนามกับเขมรบางกลุ่มบุกเข้ายึดกัมพูชา และขับไล่เขมรแดงโดยการนำของพอล พต ออกไปสู่ป่าชายแดนไทย-กัมพูชา เวียดนามตั้งรัฐบาลหุ่นโดยนายเฮง สัมริน เป็นผู้นำประเทศ

พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๓๖ กลุ่มเขมรแดงและกลุ่มเขมรอีกหลายฝ่ายจับมือกันต่อสู้กับกองทัพเวียดนาม ไล่ทหารเวียดนามออกนอกประเทศได้สำเร็จ

พ.ศ. ๒๕๓๖ สหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพนานาชาติ พร้อมกับการช่วยเหลือทางด้านการเงินอีก ๓ พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศกัมพูชาอย่างถูกกฎหมาย ผลการเลือกตั้งพรรคฟุนซินเปคของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง พรรคประชาชนกัมพูชา ของ ฮุน เซนได้คะแนนเป็นอันดับสอง เป็นผลให้รัฐบาลกัมพูชา เป็นรัฐบาลผสมโดยมีนายกรัฐมนตรี ๒ คน คือ รณฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ส่วนกลุ่มเขมรแดงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการเลือกตั้ง และยังตั้งกำลังหน่วยรบอยู่ในป่าเช่นเดิม

พ.ศ. ๒๕๓๙ กลุ่มเขมรแดงเริ่มแตกแยก ผู้นำหมายเลข ๒ นายเอียง ซารี อดีตคู่เขยของพอล พต รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศของเขมรแดง ได้นำพรรคเขมรกลุ่มหนึ่งและทหาร ๑๐,๐๐๐ คน แปรพักตร์มาเข้าร่วมสวามิภักดิ์กับรัฐบาลนายฮุน เซน ตามกระแสข่าวนาย ฮุน เซน ยอมมอบผลประโยชน์จากเหมืองพลอยที่เมืองไพลิน อันมีมูลค่ามหาศาลนับอนันต์ให้ครอบครอง

พ.ศ. ๒๕๔๐ ความขัดแย้งระหว่างเจ้ารณฤทธิ์ กับฮุน เซน เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายพยายามที่จะดึงเขมรแดงฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาเป็นพรรคพวก เพื่อเป็นฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ กองกำลัง ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ของกัมพูชาได้ทำการปฏิวัติยึดครองอำนาจ ฮุนเซนอ้างว่า ฝ่ายเจ้ารณฤทธิ์และกลุ่มเขมรแดงได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือกันทางทหาร เพื่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หลังนายฮุน เซน ยึดอำนาจ เจ้ารณฤทธิ์ต้องลี้ภัยการเมืองมาอยู่ในประเทศไทย ด้วยข้อกล่าวหาของนายฮุน เซน ว่าเจ้ารณฤทธิ์สะสมอาวุธ และคบค้ากับเขมรแดงเพื่อเตรียมการยึดอำนาจ

ต่อมานายฮุน เซน ได้แต่งตั้งนายอึง ฮวด รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑ แทนเจ้ารณฤทธิ์ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นผลให้อาเซียนตอบปฏิเสธรับกัมพูชาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มอาเซียน และในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันกลุ่มเขมรแดงได้นำตัวนายพอลพต ขึ้นศาลประชาชนในข้อหาฆ่านายซอน เซน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเขมรแดงพร้อมครอบครัวตายอย่างโหดเหี้ยมรวม ๑๑ ศพ พอล พต ถูกตัดสินกักขังบริเวณตลอดชีวิต

เขมรแดงอนุญาตให้ผู้สื่อข่าว ฟาร์อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว เข้าไปสัมภาษณ์เพื่อเผยแพร่ภาพเพื่อประจักษ์แก่สายตาชาวโลก และเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๑ นายพอล พต ก็ได้เสียชีวิตลง ภายในกระท่อมกลางป่าที่ถูกกักบริเวณตลอดชีวิต

พ.ศ. ๒๕๔๑ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ พยายามทุกหนทางที่จะหาความชอบธรรม และชนะใจต่างประเทศ เพราะต้องการเงินทุน และความช่วยเหลือที่ถูกตัดขาดออกไป ฮุน เซน ยอมรับข้อเสนอของญี่ปุ่นที่จะตัดสินคดีความของเจ้า รณฤทธิ์โดยไม่ต้องปรากฎตัว แล้วตามด้วยการอภัยโทษแก่เจ้ารณฤทธิ์จากกษัตริย์ เพื่อให้เจ้ารณฤทธิ์กลับเข้ามาสู่ประเทศกัมพูชามาเล่นการเมืองต่อไปตามแรงกดดันจากนานาประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑ รัฐบาลกัมพูชาได้จัดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของนายฮุน เซน รองลงมาคือ พรรคฟุนซินเปค ของเจ้ารณฤทธิ์ และพรรคซัมรังสี ของนาย ซัมรังสี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายค้านโดยการนำของนาย ซัมรังสี และเจ้ารณฤทธิ์ ไม่พอใจในการเลือกตั้ง โดยกล่าวว่าพรรคประชาชนกัมพูชาโกงการเลือกตั้ง จึงเกิดการประท้วง ไม่ยอมเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาล เกิดการชุมนุมประท้วงของประชาชนผู้สนับสนุนจำนวนนับหมื่นคน เมื่อเหตุการณ์บานปลาย ประเทศกลุ่มอาเซียนจึงได้ให้ไทยเป็นกลางในการไกล่เกลี่ยเพื่อการเจรจาระหว่าง ๓ พรรค การเจรจาได้สำเร็จผล โดย มรว. สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย ได้เจรจากับนายฮุนเซนต่อมาได้มีการเจรจากันระหว่างผู้นำพรรคต่างๆ และ…………………………ฯลฯ

สถานการณ์ทางพระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง หรือเสื่อมถอยก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญ คาดว่าพุทธศาสนาในกัมพูชา ในยุคการปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้ จะมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้

 

อิทธิพลของพุทธศาสนาต่อประเทศกัมพูชา

๑. ด้านสังคม 
พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อประชาชาชนกัมพูชา ถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะตกอยู่ในภัยสงครามการแก่งแย่งระหว่างผู้มีอำนาจไม่เคยขาดสาย ประดุจดังว่าดินแดนเขมรเป็นดินแดนที่ถูกสาปให้ตกอยู่ในความตกระกำลำบากด้วยภัยสงคราม ต้องมีชีวิตอยู่กับ

ดินแดนที่ถูกสาปให้ตกอยู่ในความตกระกำลำบากด้วยภัยสงคราม ต้องมีชีวิตอยู่กับการเสี่ยงตายจากสงคราม บางครั้งต้องแยกพ่อแยกแม่ แยกพี่แยกน้องกัน หรือเสียชีวิตจากกันก่อนเวลาอันควร เนื่องจากความโหดร้ายของสงคราม อันเกิดจากกองกำลังหลายกลุ่มที่คอยประหัตประการกัน ถึงแม้ว่าในช่วงที่เขมรแดงเรืองอำนาจในกัมพูชา ได้ล้มล้างพระพุทธศาสนา โดยหวังว่าให้สิ้นซาก แต่ก็ทำลายได้เพียงแค่รูปแบบและส่วนประกอบภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถทำลายพุทธศาสนาที่มีอยู่ในใจคนเขมรได้ เพราะได้ฝังลึกอยู่ในใจเป็นเวลาช้านานมรดกอันล้ำค่าที่พุทธศาสนามอบให้กับกัมพูชานั้น มีค่าเกินกว่าจะนับได้ เพราะได้แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคนเขมรไปแล้ว มีอิทธิพลต่อแนวคิด วิถีชีวิตของชาวเขมร วัดวาอารามต่าง ๆ ได้เป็นที่พึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนทางด้านศิลปวัฒนธรรม ได้มีสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่ามากมาย เช่นนครวัต นครธม เขาพระวิหาร เป็นต้น ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ที่เป็นมรดกสำคัญกัมพูชา

๒. ด้านการเมือง 
การเมืองกัมพูชามีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในอดีตกาล พระมหากษัตริย์ทรงปกครองบ้านเมือง โดยอาศัยหลักธรรมทางพุทธศาสนาเป็นแนวทาง แม้ว่าในอดีตจะมีการนับถือพุทธศาสนาปนกับศาสนาพราหมณ์ แต่ก็ไม่ได้เกิดความขัดแย้งใด ๆ เลย แต่กลับเอื้อต่อกัน เป็นประโยชน์ต่อการปกครอง หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นอุปกรณ์สำคัญในการปกครองให้ประชาชนอยู่กันอย่างสงบสุข ปกครองให้เป็นปึกแผ่นได้โดยง่าย

แม้ในปัจจุบัน รัฐบาลก็ได้เอาใจใส่กิจการพระศาสนาพอสมควร พระสงฆ์ได้มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่มาก เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตทางบ้านเมือง พระสงฆ์ได้มีส่วนร่วมในการเดินประท้วงรัฐบาล ทางด้านการศึกษา ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น ได้แก่ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาพระสีหนุราช อันเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศีกษาแก่พระภิกษุสงฆ์ชาวเขมร

๓. ด้านเศรษฐกิจ 
ประชาชนชาวเขมรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่การทำไร่ทำนา ปลูกผักปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ แต่ก็มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น ขัดสน เพราะความยากจน ขาดการดูแลเอาใจใส่จากรัฐ แม้ความเป็นอยู่ของประชาชนจะขัดสน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเรียกร้อง คือสันติภาพ ประชาชนกัมพูชาบางคนได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนของไทยว่า "สิ่งที่เขาเรียกร้องคือสันติภาพ อยากจะให้บ้านเมืองมีความสงบสุขเหมือนเมืองไทย โดยปราศจากการแก่งแย่งกันของผู้ปกครอง" แต่ส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวเขมรมีอยู่ไม่ได้ขัดสน คือพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในใจ เขาต้องอดทน ต่อสู้ต่อการทำงาน ต่อภัยสงครามต่าง ๆ คิดว่าในอนาคตข้างหน้าประชาชนเขมรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่านี้

เอกสารอ้างอิง

1.ชิตมโน. พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย. ๒๕๓๓
2.ทรงวิทย์ แก้วศรี. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เล่ม ๑๐ พระพุทธศาสนาในอินโดจีน . กรุงเทพฯ: การศาสนา. ๒๕๓๐.
3.นฤมิต พระนาศรี. ตำนานทุ่งสังหาร พอล พต ผู้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์เขมร, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์น้ำฝน, ๒๕๔๑
4.พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, ๒๕๔๐.
5.พระมหาอุทัย ธมฺมสาโร. พระพุทธศาสนาและโบราณคดีในเอเซีย. กรุงเทพฯ: เฟื่องอักษร. ๒๕๑๖.
6.พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธ- ศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖.
7.พระศรีปริยัติโมลี ( สมชัย กุสลจิตฺโต ) . พุทธทัศนะร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๐.
8.เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕. 




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย