ค้นหาในเว็บไซต์ :
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่อินเดีย

 

อิทธิพลของพุทธศาสนาในอินเดีย

พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นท่ามกลางสังคมอินเดียทีมีความหลากหลายด้านความเชื่อ ศาสนา ลัทธิต่าง ๆ ที่อุบัติขึ้นก่อนพระพุทธศาสนา และที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ตลอดจนลัทธิที่เกิดขึ้นมาภายหลังอีกมากมาย แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นมาในดินแดนชมพูทวีป หรืออินเดียเหมือนกับลัทธิศาสนาต่าง ๆ เหล่านั้น แต่พุทธศาสนามีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากลัทธิศาสนาต่าง ๆ ได้แก่การอุบัติขึ้นมาพร้อมกับการปฏิรูปสังคมอินเดียเสียใหม่ คือพุทธศาสนาได้เสนอหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งหักล้างกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวอินเดียไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่แตกต่างจากศาสนาพราหมณ์โดยสิ้นเชิง

เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อพุทธศาสนาเคยได้เจริญรุ่งเรืองในอินเดียมาก่อน ย่อมจะทำให้สังคมอินเดียได้รับอิทธิพลด้านความคิด ความเชื่อจากพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน เมื่อความคิด ความเชื่อ หรือทัศนคติของคนอินเดียเป็นอย่างไร ก็ย่อมส่งผลให้สังคมเป็นไปอย่างนั้นด้วย แม้ว่าปัจจุบันนี้จะเหลือแต่ภาพเก่า ๆ ของพุทธศาสนาในความทรงจำของผู้คน หรืออาจจะลืมไปแล้วก็ตามสำหรับคนอินเดีย แต่อิทธิพลของของพุทธศาสนาที่เคยมีบทบาทต่อสังคมอินเดียนั้น ยังปรากฏอยู่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล

หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์คือ การชี้นำแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแก่มวลประชากร เพื่อความสุขสงบแก่ชีวิตและสังคม แม้ว่าจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม พระองค์ใช้เวลาที่มีอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ ๔๕ พรรษา เผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนจนพุทธศาสนาแพร่หลายในแคว้นต่าง ๆ มีประชาชนศรัทธาเลื่อมใสและอุทิศตนเป็นพุทธสาวก นับถือพระพุทธศาสนาจำนวนมากมาย

พระพุทธองค์มิได้จำกัดบุคคลในการเทศน์สอน ว่าเป็นชนชั้นวรรณะใด เพศใด อาชีพใด หรืออายุวัยใด ทรงแสดงธรรมแก่บุคคลทุกระดับ ไม่จำกัดขอบเขต หากเขามีความสามารถที่จะรับรู้ธรรมได้ ก็ทรงให้โอกาสเสมอ จนมีพุทธศาสนิกชนทุกระดับ ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ จนถึงคนอนาถา ทั้งวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร และจัณฑาล พุทธธรรมได้แทรกซึมอยู่ในบุคคลทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ สิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ถูกเปิดออกโดยหลักการของพุทธศาสนา เพราะเมื่อก่อนได้ถูกครอบงำ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพโดยความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ ประชาชนส่วนมากได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิต เช่นการมีความเชื่อเรื่องกรรม แทนความเชื่อเรื่องพระพรหมลิขิต การถวายทาน การปฏิบัติตามศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น แม้พระราชาผู้ปกครองแว่นแคว้นก็ทรงปกครองโดยทศพิธราชธรรม ดังปรากฏว่ามีพระราชาหลายพระองค์ที่ทรงเป็นพุทธสาวก เช่นพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาแห่งแคว้นโกศล เป็นต้น ทรงเป็นพุทธมามกะ และได้ปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมทางพุทธศาสนา ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนา ด้วยการทนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และได้สร้างวัดวาอารามต่าง ๆ ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วย

อิทธิพลของพระพุทธศาสนายุคหลังพุทธปรินิพพาน

เมื่อภายหลังพุทธปรินิพพาน พระพุทธศาสนาได้มีความเจริญรุ่งเรืองไปในแคว้น ต่าง ๆ ได้มีนิกายต่าง ๆ เกิดขึ้นทั้งนิกายดั้งเดิมและนิกายใหม่ ทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายไปพร้อมกับความเสื่อมที่ตามมากับความแพร่หลายนั่นเอง ด้วยเหตุผลหลายประการที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดีย จะได้กล่าวไว้ตอนหลัง ซึ่งนับว่าพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ตั้งแต่บัดนั้นมาพระพุทธศาสนาก็ได้เสื่อมจากอินเดีย โดยถูกครอบงำจากอิทธิพลของศาสนาฮินดู 
ระยะกาลอันยาวนานของพุทธศาสนาที่มีต่อวิถีชีวิตคนอินเดียกว่า ๑ พันปี จะเห็นว่าพุทธศาสนามีบทบาทต่อสังคมอินเดียในสมัยต่าง ๆ ดังนี้

เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒ ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาเถรวาทมาก ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็น ประชาชนอยู่กันอย่างสงบสุข บทบาทสำคัญของพระเจ้าอโศกมหาราชที่มีต่อพระพุทธศาสนาคือทรงอุปถัมภ์การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓ ขจัดภัยร้ายของพระพุทธศาสนาด้วยการขจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวช และส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนา ในดินแดนประเทศต่าง ๆ รวมถึง ๙ สายด้วยกัน

เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๑ ราชวงศ์คุปตะทางอินเดียตอนเหนือเจริญรุ่งเรือง ในสมัยราชวงศ์นี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองทางศาสนา วรรณคดี ศิลปกรรม และปรัชญา แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์นี้จะเป็นฮินดูส่วนมาก แต่ก็ทรงอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะฝ่ายมหายาน จนเจริญรุ่งเรืองไปสู่ประเทศใกล้เคียง กษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ พระเจ้าจันทรคุปต์ พระเจ้าสมุทรคุปต์ พระเจ้าวิษณุคุปต์ และพระเจ้าสกันธคุปต์

ในยุคนี้ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้รจนาคัมภีร์ขึ้นมากมาย ด้านศิลปกรรมทางพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เช่นศาสนสถาน และศาสนวัตถุ ได้สร้างขึ้นอย่างงดงาม พระพุทธรูปศิลปะสมัยคุปตะมีหลายขนาด หลายปาง แม้พระพุทธรูปสมัยทวาราวดีก็ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยคุปตะ ส่วนด้านปรัชญา ได้มีนักปรัชญาทางพุทธศาสนาหลายท่าน เช่นท่านนาคารชุน ท่านอสังคะ และท่านวสุพันธ์ ท่านเหล่านี้ประกาศ

พุทธปรัชญาให้เป็นที่สนในแก่ประชาชน โดยเฉพาะนักคิดนักปรัชญาทั้งหลาย แม้ว่าจะเป็นปรัชญาฝ่ายมหายาน แต่ก็ได้มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของชาวอินเดียไม่น้อย

ในด้านการศึกษาพระพุทธศาสนา ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ การศึกษาทางพุทธศาสนาได้ก้าวหน้าไปมาก ถึงกับขยายการจัดการศึกษาไปเป็นรูปแบบมหาวิทยาลัย จึงได้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลกขึ้น คือมหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ขยายตามมาอีก คือ มหาวิทยาลัยวัลภี มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา มหาวิทยาลัยโสมบุรี และมหาวิทยาลัยชคัททละ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้กระจายอยู่ในอินเดียตอนเหนือ มหาวิทยาลัยนาลันทาได้มีคณาจารย์สั่งสอนธรรมมีถึง ๑๕๐๐ ท่าน นักศึกษาจำนวนนับหมื่น มีทั้งชาวอินเดีย และชาวต่างชาติ เช่น จีน ธิเบต อินโดนีเซีย เตอรกี ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท และศาสนาอื่น ๆ การศึกษาพระพุทธศาสนาจึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง

พ.ศ. ๑๑๐๐ พระเจ้าหรรษวรรธนะ (พระเจ้าศีลาทิตย์) ราชวงศ์วรรธนะ แห่งวรรณะแพศย์ ได้กำจัดอำนาจราชวงศ์คุปตะแห่งวรรณะพราหมณ์ลงได้ และขึ้นครองราชเป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนามหายาน ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

และอุปถัมภ์บำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย จนทำให้ชาวฮินดูขัดเคืองว่าบำรุงพุทธศาสนามากกว่าฮินดู จึงวางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าหรรษะจนสำเร็จ ในยุคนี้ได้มีพระภิกษุชาวจีนท่านหนึ่งชื่อหลวงจีนเหี้ยนจังหรือยวนฉาง (พระถังซัมจั๋ง) ได้จาริกสู่ชมพูทวีป นอกจากท่านมาศึกษาพระพุทธศาสนาและแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีนเพื่อนำไปยังประเทศจีนแล้ว ท่านยังได้เขียนจดหมายเหตุไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวและสภาพของสังคมด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในภายหลัง

หลังจากพระเจ้าศีลาทิตย์สวรรคตแล้ว อินเดียได้เข้าสู่ความระส่ำระสายเป็นเวลาประมาณ ๑ ศตวรรษ พระพุทธศาสนาได้เสื่อมถอยจากอินเดียตามลำดับนับตั้งแต่หลังราชวงศ์วรรธนะ (พระเจ้าศีลาทิตย์ ) ด้วยสาเหตุมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกคือ

๑) ปัจจัยภายใน ได้แก่ความอ่อนแอ ความแตกแยก ขาดความเป็นปึกแผ่นของคณะสงฆ์ ประกอบกับการรับเอาลัทธิตันตระของพราหมณ์มาปฏิบัติ เกิดเป็นนิกายใหม่เรียกว่านิกายพุทธตันตระ ซึ่งขัดกับหลักการเดิมของพุทธศาสนาอย่างรุนแรง

๒) ปัจจัยภายนอก ได้แก่ความระส่ำระสายของบ้านเมือง อันเนื่องมาจากการคุกคามจากชนชาติอื่น จนแตกแยกเป็นรัฐน้อยใหญ่ และการคุกคามจากศาสนาอื่น เช่นศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลาม

- ขาดผู้อุปถัมภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกษัตริย์ผู้ปกครองบ้านเมือง เมื่อกษัตริย์ที่นับถือศาสนาอื่นแล้วไม่ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาแล้ว ก็จะทำให้พุทธศาสนาไม่อาจมั่นคงถาวรได้

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๐ สังคมอินเดียกำลังอยู่ในความอ่อนแอ กองทัพเตอร์กมุสลิมได้เข้ามารุกรานอินเดีย ทำลายล้างพุทธศาสนาที่มีอยู่ในอินเดียอย่างราบคาบ ได้ฆ่าพระสงฆ์ เผาคัมภีร์ ทำลายศาสนสถานเช่นวัดวาอาราม มหาวิทยาลัยนาลันทา เผาตำราทิ้งจนไม่มีเหลือ พระสงฆ์บางส่วนที่หนีทัน ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่เนปาล และธิเบต พระพุทธศาสนาได้สูญสิ้นไปจากอินเดียตั้งแต่บัดนั้นมา

ระยะกาลยาวนานกว่า ๑ พันปี ที่พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในอินเดีย และได้สูญสิ้นไปจากอินเดียโดยสิ้นเชิง ที่ยังเหลืออยู่ก็มีเพียงประชากรเพียงน้อยนิด ไม่ถึง ๑% ของประชากรทั้งหมดของอินเดีย และคนที่ยังนับถือพุทธศาสนาอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนมากก็จะอยู่ในวรรณะต่ำ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ รัฐบาลอินเดียได้จัดงานฉลองพุทธยันตี ๒๕๐๐ปีพระพุทธศาสนา 
รัฐบาลอินเดียได้ฟื้นฟูส่งเสริมพระพุทธศาสนาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นที่นาลันทา ได้จัดให้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และปรับปรุงบำรุงสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในขอบเขต เพราะประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียยังคงเป็นฮินดูอยู่

ในปีเดียวกันนั้น ได้มีประชาชนวรรณะศูทรจำนวนนับล้านปฏิญาณตนนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่เมืองนาคปุระ แคว้นบอมเบย์ โดยการนำของ ดร. เอมเบดการ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินเดีย ซึ่งเป็นคนวรรณะศูทร ดร. เอมเบดการ์ ได้มีบทบาทต่อสังคมอินเดียอย่างมาก พยายามปฏิรูปสังคมอินเดียให้มีความเสมอภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ และสันติภาพ เพราะมองว่าความเชื่อทางศาสนาฮินดูเป็นความเชื่อที่ทำให้สังคมอินเดียขาดความเป็นปึกแผ่น เพราะการถือเรื่องชาติวรรณะของฮินดู ท่านได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพุทธศาสนาในการดำเนินการต่าง ๆ ทางสังคมได้ตั้งวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อสอนวิชาการต่าง ๆ มากมายหลายแห่ง เช่นสิทธารถวิทยาลัยทางนิติศาสตร์ เป็นต้น นับว่าเป็นความพยายามที่จะปฏิรูปสังคมอินเดียของ ดร. เอมเบดการ์ โดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา แต่ความพยายามในการเป็นผู้นำของท่านก็ไปได้ไม่เท่าไร ก็ต้องหยุดชะงักลง เพราะท่านได้ถึงแก่กรรมหลังจากการประกาศตนเป็นชาวพุทธได้ไม่นาน

พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อสังคมอินเดียในด้านต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลายาวนาน พระพุทธเจ้าเป็นชาวอินเดียที่ปฏิรูปสังคมอินเดียขึ้นมาในรูปแบบหนึ่ง กลุ่มชนที่ยอมรับการปฏิรูปตามแนวทางของพระองค์เรียกว่า "พุทธศาสนิกชน" หรือ พุทธศาสนา ด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาที่ยืนหยัดในหลักการของตนนี้เอง ทำให้หลักธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนาแทรกซึมอยู่ในสังคมอินเดียในด้านต่าง ๆ ได้แก่

๑. ด้านสังคม

๑.๒ ความเชื่อเรื่องระบบวรรณะได้ถูกปฏิเสธ และเสนอหลักการที่หักล้างระบบวรรณะโดยสิ้นเชิง พุทธศาสนายกเลิกระบบวรรณะในหมู่สงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายไปในบุคคลกลุ่มต่าง ๆ จนถึงมีการจารึกลงในรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียไว้ โดยให้ยกเลิกระบบวรรณะในอินเดีย แนวคิดเรื่องความเสมอภาพของมนุษย์ ที่เชื่อว่ามนุษย์มีคุณค่าหรือไร้ค่าอยู่ที่การกระทำมิใช่มาจากชาติตระกูล โดยมีทัศนะและวิธีปฎิบัติต่อเรื่องวรรณะดังนี้

ก. ในทางทฤษฎี คัดค้านความเชื่อเรื่องวรรณะโดยเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของโลกและสังคม โดยการกระทำของมนุษย์ แทนทฤษฎีการสร้างโลกและบันดาลโดยพระเจ้า ถือว่าทุกคนมีสิทธิในการทำดีและทำชั่วเท่ากัน คนจะดีจะชั่วอยู่ที่การกระทำ มิใช่ชาติกำเนิด

ข. ในทางปฏิบัติ ตั้งสถาบันสงฆ์โดยปราศจากวรรณะ ไม่มีแบ่งแยก ปฏิบัติกับทุกคนเสมอเท่าเทียมกัน

๑.๒ ด้านการศึกษา ได้มีการจัดการศึกษาขึ้นในวัด เช่นมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นการให้การศึกษาแก่กุลบุตร กุลธิดา ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั่วไป ไม่จำกัดศาสนา เชื้อชาติใด ๆ เป็นการจัดการศึกษาแบบให้เปล่า จากการบันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจังว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๐๐๐ การศึกษามีความเจริญมาก มีนักศึกษาจำนวนนับหมื่นท่าน

๑.๓ ด้านศิลปกรรม ได้มีการสร้างวัดวาอารามและพระพุทธรูปมากมาย ล้วนเป็นศิลปะยุคราชวงศ์คุปตะ ที่จัดว่าเป็นยุคที่เกิดศิลปกรรมทางพุทธศาสนามากมาย

๑.๔ ด้านวัฒนธรรม อินเดียเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมอารยธรรมเก่าแก่ พุทธศาสนามีอิทธิพลต่ออินเดียทั้งที่เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุและทางจิตใจ ได้มีสถาปัตยกรรม และปติมากรรมทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นมากมาย ล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่นสังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่สำคัญที่ชาวพุทธทั่วโลกไปกราบนมัสการ ส่วนวัฒนธรรมทางจิตใจนั้นมีอิทธิพลต่อชาวอินเดียอยู่ไม่น้อย เช่นความเชื่อเรื่องอหิงสา เป็นต้น

๑.๕ ด้านสาธารณูปการและสังคมสงเคราะห์ คำสอนทางพุทธศาสนาได้สอนถึงหลักการสงเคราะห์ ช่วยเหลือกันและกันตามสังคหวัตถุ ๔ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ หลังจากที่พระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนาทรงทำการปฏิวัติการปกครองบ้านเมือง และจัดสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เช่นขุดบ่อน้ำ สระน้ำ สร้างถนน คูคลอง สร้างโรงพยาบาลคนและโรงพยาบาลสัตว์ ปลูกสมุนไพร เพื่อความผาสุกแก่ประชาชน ในครั้งพุทธกาลก็ได้มีอุบาสกอุบาสิกาผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้สงเคราะห์ประชาชนคนยากไร้อยู่หลายท่าน เช่นเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ หรือสุทัตตเศรษฐี เป็นต้น

๒. ด้านการเมืองการปกครอง

การปกครองจะเป็นแบบราชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยก็ตาม ผู้นำที่ดีจะต้องมีความสามารถในการปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็น ประชาชนมีความเป็นอยู่โดยผาสุกได้ พุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครองมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระราชาทรงเป็นพุทธมามกะ และปกครองแผ่นดินโดยธรรม ใช้หลักธรรมาธิปไตยในการปกครอง ปฏิบัติตนตามคุณธรรมของนักปกครอง ได้แก่ทศพิธราชธรรม เช่นพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้น รัฐธรรมนูญของอินเดียปัจจุบันได้ให้สิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน ไม่มีการจำกัด หรือเลือกปฏิบัติ ให้ยกเลิกระบบวรรณะในอินเดีย บุคคลสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ ดร. เอมเบดการ์ ซึ่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

๓. ด้านเศรษฐกิจ

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาต่อสถาบันเศรษฐกิจนั้น ไม่ปรากฏชัดเจนนัก เนื่องจากพุทธศาสนามุ่งสอนให้เกิดสันติสุขแก่ชีวิตและสังคม กระบวนการทางเศรษฐกิจเป็นกิจกรรมทางโลก มิใช่หน้าที่ของศาสนา

แต่หน้าที่และบทบาทของศาสนาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น คือ การชี้แนะแนวทางความถูกต้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจว่า ควรจะทำอย่างไร เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร และเสนอแนะแนวทางแก้ไขทางจริยธรรมให้ เช่นหลักธรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ ได้แก่สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพโดยชอบ เป็นส่วนหนึ่งของอริยมรรคมีองค์ ๘ และหลักธรรมข้ออื่น ๆ อีก เช่น หลักหัวใจเศรษฐี ๔ คือ

๑. อุฏฐานสัมปทา มีความขยันหมั่นเพียร 
๒. อารักขสัมปทา รู้จักรักษาเก็บออมทรัพย์ 
๓. กัลยาณมิตตตา การรู้จักเลือกคบคนดี ไม่คบคนพาลอันจะนำพาให้ทรัพย์สินฉิบหาย 
๔. สมชีวิตา การรู้จักประมาณในการใช้จ่าย รู้ฐานะทางการเงินของตนเองใช้จ่ายแต่พอดี

ส่วนข้อห้ามปฏิบัติในการค้าขายได้แก่ มิจฉาวณิชชา การค้าขายที่ผิดศีลธรรม ได้แก่

๑. การค้าขายอาวุธ 
๒. การค้าขายมนุษย์ 
๓. การค้าขายเนื้อสัตว์ (พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า การค้าขายสัตว์มีชีวิต) 
๔. การค้าขายน้ำเมา ยาเสพติด 
๕. การค้าขายยาพิษ

หลักธรรมที่ตรัสสอนเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันมีอิทธิพลทางด้านจริยธรรม นอกจากนั้นยังมีข้อบัญญัติทางกฎหมาย บางข้อที่เกี่ยวกับหลักศีลธรรมทางศาสนา เช่นห้ามฆ่าสัตว์ ขายเนื้อในวันพระ เป็นต้น

สรุป

อิทธิพลทางพุทธศาสนาต่อประเทศอินเดีย เป็นลักษณะผสมผสานกับอิทธิพลของศาสนาอื่น โดยเฉพาะศาสนาฮินดู เนื่องจากศาสนาฮินดูเป็นศาสนาดั้งเดิมที่วิวัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์ ที่อยู่กับชาวอินเดียมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน อิทธิพลของฮินดูฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอินเดียมาช้านาน ส่วนอิทธิพลของพุทธศาสนามีอยู่ใน ๒ ลักษณะ คือ

๑. อิทธิพลของคำสอนที่ปนอยู่ในคัมภีร์ของศาสนาฮินดู เนื่องจากศาสนาฮินดูพยายามกลืนพุทธศาสนา โดยเอาหลักธรรมทางพุทธศาสนาไปประยุกต์กับศาสนาฮินดู โดยเอาพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งในอวตารของพระณารายณ์ คำสอนของพุทธศาสนาจึงปะปนอยู่ในคัมภีร์ของฮินดู พิธีรีตองส่วนมากซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคัมภีร์พระเวท ตลอดจนรูปแบบของศาสนาที่แพร่หลายเป็นที่นิยมของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะก็คือประเพณีการสังเวยเทพเจ้าด้วยชีวิตสัตว์ได้สูญสลายไป ความคิดเรื่องอหิงสาซึ่งมีปรากฏอยู่แล้วในคัมภีร์พระเวทและคัมภีร์อุปนิษัท ได้รับการเน้นหนักจากพุทธศาสนา

๒. อิทธิพลของพุทธศาสนาดั้งเดิม มีอิทธิพลต่อสังคมอินเดียในสมัยที่พุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงหลังพุทธปรินิพพาน กระทั่งจนพุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากอินเดีย ราว ศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๗

นับว่าประวัติศาสตร์อันยาวนานของพุทธศาสนาที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในอินเดีย แต่ปัจจุบันกลับไปเจริญในดินแดนอื่น ส่วนในอินเดียก็มีเพียงชาวพุทธกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มน้อยของประชากรอินเดียที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่

 รายชื่อวัดไทยในประเทศอินเดีย

เอกสารอ้างอิง

๑. กรุณา เรืองอุไร กุศลาศัย. อินเดีย อนุทวีปที่น่าทึ่ง. กรุงเทพฯ: ศยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๓๘ 
๒. ปิ่น มุทุกันต์, พ.อ. บทเรียนจากอินเดีย. กรุงเทพฯ: ป. พิศนาคะการพิมพ์. ๒๕๑๐. 
๓. พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนากับสังคมไทย. กรุงเทพฯ มูลนิธิโกมลคีมทอง. พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๓๒. 
๔. พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯ. ธรรมสภา, ๒๕๔๐
๕. พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖. 
๖. พระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ). ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดีย. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๓๔. ๗. พอล, จันดาร์ ซาดีส. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ไทย- อินเดีย. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๗. 
๘. เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๑ กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕.




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย