พระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียจะเป็นประเทศนับถือศาสนาอิสลาม แต่อดีตเคยมีพระพุทธศาสนาแบบมหายานเข้ามาประดิษฐานอยู่ พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมาก ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีโบราณสถานที่สำคัญ ๒ แห่งอยู่ในอินโดนีเซียคือ โบโรบุดูร์ หรือ บรมพุทโธ ตั้งอยู่ที่ราบเกตุ (kedu) ในภาคกลางของชวา ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตา (Jogjagata) ในปัจจุบันทางเหนือประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และพระวิหารเมนดุต (Mendut) ซึ่งอยู่ห่างจาก โบโรบุดูร์ไปทางทิศตะออก ๓ กิโลเมตร
ต่อมาเมื่ออิสลามได้ขยายอำนาจครอบงำอินโดนนีเซียในปีพุทธศักราช ๒๐๑๒ ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ขณะที่พระพุทธศาสนาตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมตลอดระยะเวลาอันยาวนาน พุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซียได้ใช้ความเสียสละอย่างสูงพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาไว้มิให้สูญสิ้นไป โดยปราศจากการสนับสนุนจากภายนอกเท่าที่ควร
ประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันมีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ประมาณ ๑๕๐ วัด ในจำนวนนี้ ๑๐๐ วัด เป็นวัดฝ่ายมหายาน อีก ๕๐ วัดเป็นวัดฝ่ายหีนยาน(เถรวาท) วัดเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของฝ่ายฆราวาส เพราะพระภิกษุมีจำนวนน้อย การปกครองดูแลพุทธศาสนิกชนขึ้นอยู่กับพุทธสมาคม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองจากาตาร์ นครหลวงของอินโดนีเซีย และมีสมาชิก ๖ แห่ง ตั้งอยู่ตามเมืองต่างๆ รวมมีสมาชิกทั้งสิ้นประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน
การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีมานี้ เป็นการริเริ่มโดยพระสงฆ์ชาวลังกาและพระสงฆ์ชาวพื้นเมืองที่ได้รับการอุปสมบทไปจากวัดบวรนิเวศวิหารและวัดเบญจมบพิตรในประเทศไทย
ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ คณะสงฆ์ไทยได้ส่งพระธรรมทูตจากประเทศไทย ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซียทั้งชวาภาคกลาง ภาคตะวันออก และตะวันตก ขณะนี้ยังมิได้สร้างวัดไทยขึ้นแต่ก็ได้เตรียมการที่จะสร้างวัดไทยขึ้นในสถานที่ไม่ห่างไกลจากมหาสถูปโบโรบุดูร์ไว้แล้ว
ปัจจุบันพระธรรมทูตจากประเทศไทยมีสำนักงานเผยแผ่เป็นศูนย์กลางอยู่ที่สำนักงานพุทธเมตตา ตั้งอยู่เลขที่ ๕๙ ถนนเตอรูซานเลมบังดี กรุงจาการ์ตา