ค้นหาในเว็บไซต์ :


การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่สหรัฐอเมริกา

พระพุทธศาสนา เริ่มเผยแผ่เข้าสู่สหรัฐอเมริกา ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๔ โดย พันเอก เอช. เอส. ออลคอตต์ ได้แต่งหนังสือชื่อ ปุจฉาวิสัชชนาทางพระพุทธศาสนา (Buddhist Catechism ) ขึ้นเผยแผ่แต่คนยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๓๖ อนาคาริกะ ธัมมปาละ พุทธศาสนิกชาวลังได้เดินทางเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา จึงเริ่มมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนและชาวญี่ปุ่นเท่านั้น

ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้สร้างวัดทางพระพุทธศาสนานิกายสุขาวดี ขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก โดยชาวญี่ปุ่นเพื่อใช้ประโยชน์ในการบำเพ็ญศาสนกิจ และเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติธรรม ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันเริ่มหันมาให้ความสนใจกับพระพุทธศาสนามากขึ้น

ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้มีการจัดตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น ซึ่งสมาคมนี้ในปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่และขยายสาขาไปยังรัฐต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ มหาวิทยาลัยวิสคอนซินได้เปิดการสอนหลักสูตรพุทธศาสตร์ ขึ้นในระดับปริญญาเอก และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงได้ตั้งมหาวิทยาลัยพุทธธรรม ขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเปิดสอน สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ซึ่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกานั้น จัดว่ามีความสมบูรณ์ทุกประการ เช่น การจัดปาฐกถา การอภิปราย สนทนาธรรม สัมมนาทางวิชาการ การจัดอบรมทางพระพุทธศาสนาภาคฤดูร้อน เปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การแสดงพระธรรมเทศนา การบำเพ็ญกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีวารสาร นวสูร ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาขององค์การพระพุทธศาสนานานชาติอีกด้วย

 

พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

สหรัฐอเมริกานับว่ามีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแพร่หลายและกว้างขวางที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีชาวไทยและชาวเอเซียที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่กระจัดกระจายตามรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเซียที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่กันหนาแน่ในบางเมือง เช่น ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก ชิคาโก เป็นต้น ก็ได้ร่วมกันจัดตั้งวัดไทยขึ้นในชุมชนของตน เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นแหล่งที่ใช้พบปะสังสรรค์กันระหว่างชาวพุทธ วัดไทยในสหรัฐอเมริกาจึงมีกระจัดกระจายอยู่ตามรัฐต่างๆ เป็นอันมาก ซึ่งมีบทบาทนอกเหนือจากศาสนากิจแล้ว ยังเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของไทยไปด้วย ได้แก่ การเปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และภาคฤดูร้อนให้เด็กๆ ลูกหลานไทยที่เกิดเติบโตในสหรัฐอมเริกาได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ภาษาไทย ที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมไทยด้วย

วัดไทยในสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ตามรัฐต่าง ๆ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย