พระพุทธศาสนาในประเทศเวียตนาม
ดินแดนประเทศเวียดนามในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ๓ อาณาเขต คือ ตังเกี๋ย (Tong king) ได้แก่ แถบลุ่มแม่น้ำแดง อานัม (Annam) ได้แก่ แผ่นดินแคบยาวตามทอดชายฝั่งทะเล ที่อยู่ตอนกลางระหว่างตังเกี๋ยกับโคชินจีน และโคชินจีน (Cochin China) ได้แก่แผ่นดินส่วนล่างทั้งหมด ปัจจุบันนี้ อานัมภาคใต้ เป็นอาณาจักรจัมปา ส่วนโคชินจีนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน อาณาจักรอานัม มีอารยธรรมสืบสายมาจากจีน ส่วนจัมปากับฟูนันมีอารยธรรมที่สืบสายมาจากอินเดีย
อาณาจักรอานัมมีอายุเกือบ ๓ พันปี แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๓๐๐ ได้จัดตั้งเป็นอาณาจักรเวียดนาม (เวียดนาม แปลว่า อาณาจักรฝ่ายทักษิณ) ต่อมาอาณาจักรเวียดนาม ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีน ใน พ.ศ. ๔๓๓ เป็นเวลานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี ในระยะนี้ เรียกประเทศเวียดนามว่า อานัม แปลว่า ปักษ์ใต้ที่สงบ จากการตกเป็นเมืองขึ้นของจีน จึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนแทบทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๘๒ เวียดนามได้ทำการกอบกู้เอกราชจากจีนได้สำเร็จ ได้ประกาศอิสรภาพจากจีน ต่อมาอาณาจักรเวียดนามได้แผ่อำนาจมาทางใต้สามารถเข้ายึดครองนครจัมปาได้ในที่สุด
พระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในประเทศเวียดนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗ ในขณะนั้น เวียดนามตกอยู่ในอำนาจของจีน พระพุทธศาสนาที่เข้ามาสู่เวียดนามในยุคแรกนั้น เป็นพุทธศาสนาแบบมหายาน โดยสันนิษฐานว่าท่านเมียวโป (Meou-Po) ได้เดินทางมาจากประเทศจีนเข้ามาเผยแผ่ เวียดนามจึงได้รับเอาศาสนาจากจีน รวมทั้งคัมภีร์ทางศาสนา ก็เป็นภาษาจีนเหมือนกัน สันนิษฐานกันว่า ได้มีพระภิกษุชาวอินเดีย คือ พระมหาชีวก พระกัลยาณรุจิ และ พระถังเซงโฮย ได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนา ในยุคเดียวกับท่านเมียวโป แต่การเผยแผ่พุทธศาสนาก็ไม่เจริญนัก เพราะกษัตริย์จีนในขณะนั้นนับถือศาสนาขงจื้อ ไม่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และยังไม่พอพระทัยที่มีคนนับถือพุทธศาสนา
ต่อมาเมื่อชาวเวียดนามกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ พระพุทธศาสนาได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง ในครั้งนั้นได้มีพระภิกษุชาวอินเดีย ชื่อ วินีตรุจิ ท่านได้ศึกษาพุทธศาสนาในอินเดียแล้วยัง ได้เดินทางมาศึกษาพุทธศาสนานิกายเซน หรือ เธียร (Thien) ในประเทศจีน แล้วเดินทางมาเผยแผ่ พุทธศาสนานิกายเธียร หรือ เซน ในเวียดนามจนพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ
คราวที่เวียดนามกู้อิสระภาพ ได้ตั้งอาณาจักรไคโคเวียด ใน พ.ศ. ๑๔๘๒ หลังจากได้อิสระภาพแล้ว ก็เกิดการแย่งชิงอำนาจกันเอง ประมาณ ๓๐ ปี ระยะนี้พุทธศาสนาซบเซาขาดการทำนุบำรุง ต่อมาเมื่อราชวงศ์ดินห์ ขึ้นครองอำนาจในปี พ.ศ. ๑๒๑๒ แล้ว พระพุทธศาสนากลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก
ใน พ.ศ. ๑๕๑๑-๑๕๒๒ รัฐบาลได้จัดตั้งองค์การปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยรวมเอาคณะนักบวชเต๋ากับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เข้าในระบบฐานันดรศักดิ์เดียวกัน พระเจ้าจักรพรรดิเวียดนาม ทรงสถาปนาพระภิกษุง่อฉั่นหลู เป็นประมุขสงฆ์ของเวียดนาม และแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ด้วย
ในสมัยกษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์เล (๑๕๔๘-๑๕๕๑) ได้ส่งพระสงฆ์ไปขอพระไตรปิฎกจากประเทศจีน ๑ ชุด และทรงแนะนำให้ประชาชนเลิกนับถือผีสาง เทวดา มานับถือพระพุทธศาสนา แต่ประชาชนยังนับถือผีสาง เทวดา พร้อมกับพุทธศาสนาด้วย
สมัยราชวงศ์ไล (๒๑๕ ปี) เป็นช่วงที่พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เพราะเป็นศาสนาเดียวที่ได้รับการอุปถัมภ์ และศรัทธาอย่างแรงกล้าจากราชวงศ์นี้ เช่น สมัยของพระเจ้าไลไทต๋อง (๑๕๗๑-๑๕๘๘) ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างกวางขวาง เช่น โปรดให้สร้างวิหาร ๙๕ แห่ง
สมัยพระเจ้าไลทันต๋อง (๑๕๙๗-๑๖๑๕) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเอาใจใส่บ้านเมือง และประชาชนมาก ดำเนินรอยตามพระเจ้าอโศกมหาราช เช่น สงเคราะห์ประชาชนผู้ทุกข์ยาก เป็นต้น
พ.ศ. ๑๙๕๗ เวียดนามได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีก ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๗๔เป็นเวลา ๑๗ ปี ก็ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมไปมาก เพราะกษัตริย์ราชวงศ์หมิงของจีน ได้ส่งเสริมแต่ลัทธิขงจื้อ และเต๋า ในขณะนั้นพุทธศาสนานิกายตันตระ ของธิเบตก็เข้ามา จีนได้ทำลายวัด เก็บเอาทรัพย์สิน และคัมภีร์พุทธศาสนาไปหมด
พอเวียดนามได้เอกราชอีก เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๔ พุทธศาสนาก็ไม่ดีขึ้น เพราะกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ ไม่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา กลับเข้าแทรกแซงกิจการทางศาสนา ในช่วงนี้เองได้เกิดนิกายตินห์โดขึ้นในเวียดนาม ซึ่งเผยแผ่มาจากจีนถึงเวียดนาม ต่อมานิกายนี้ได้ผสมผสานกับนิกายเดิม คือ นิกายเธียร จนเกิดเป็นพุทธศาสนาแบบหนึ่งขึ้นมา ที่ยังปฏิบัติกันอยู่ตามโรงเจดีย์ (Chua) ในปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๐๑๔ พระเจ้าเลทันต๋องได้รวบรวมอาณาจักรจัมปาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเวียดนามได้สำเร็จ จนถึง พ.ศ. ๒๐๗๖ เวียดนามก็ได้แตกแยกเป็น ๒ อาณาจักร ได้แก่อาณาจักรฝ่ายเหนือที่พวกตระกูลตรินห์ (Trinh) ครองอำนาจ คือแคว้นตังเกี๋ย กับอาณาจักรฝ่ายใต้ของราชวงศ์เหงียน (Nguyen) คือแคว้นอานัม ทั้ง ๒ อาณาจักร ต่างทำสงครามกันมาตลอดระยะเวลา ๒๗๐ ปี จนรวมเป็นอาณาจักรเดียวกันอีก เมื่อพ.ศ. ๒๓๔๕ ในช่วงเวลาที่แตกแยกกันเป็นเวลา ๒๗๐ ปีนั้น พุทธศาสนาต่างฝ่ายต่างทำนุบำรุงพุทธศาสนา มีการสร้าง และปฏิสังขรวัดวาอารามมากมาย
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ชาวตะวันตกได้เริ่มเดินทางมาติดต่อกับเวียดนามทางการค้าขาย และการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค มีพวกโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษ เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ นักสอนศาสนาชาวโปรตุเกส และชาวฝรั่งเศส ได้คิดค้นวิธีการเขียนภาษาเวียดนามด้วยอักษรโรมัน จนชาวเวียดนามเลิกใช้ภาษาจีน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๐-๒๔๐๑ เวียดนามได้ทำการปราบปรามพวกคริสต์อย่างเด็ดขาดโดยการจับฆ่าตาย ทำให้พวกนักสอนศาสนาถูกฆ่าตายจำนวนมาก และพวกชาวคริสต์ญวนอีก จำนวนนับแสนคน จนเกิดการขัดแย้งกันระหว่างเวียดนาม กับ อังกฤษ จนที่สุด อังกฤษสามารถเข้ายึดครองเวียดนามได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๒ ยึดครองเมืองไซง่อนได้ พ.ศ. ๒๔๒๖ เวียดนามก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองเวียดนามพุทธศาสนา เสื่อมโทรมลงมาก เพราะถูกเบียดเบียนจากพวกฝรั่งเศส ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ เช่นการห้ามสร้างวัด เว้นแต่ได้รับอนุญาต จำกัดสิทธิพระสงฆ์ที่จะรับถวายสิ่งของ จำกัดจำนวนพระภิกษุ เป็นต้น แม้ชาวพุทธจะถูกจำกัดสิทธิ โดยไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงเลย หากจะเป็นได้ต้องนับถือศาสนาคริสต์เสียก่อน และต้องโอนสัญชาติเป็นฝรั่งเศสด้วย จึงทำให้ชาวพุทธไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร และไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียงอะไรในแผ่นดิน ชาวเวียดนามได้พยายามรวมตัวกันเพื่อลุกขึ้นสู้กอบกู้เอกราช แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงไปเป็นระยะ ๆ ในระยะนี้เองพระพุทธศาสนา ซึ่งมีท่าทีว่าจะสูญสิ้น ก็มีการตื่นตัว ฟื้นฟูกันอีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้มีการจัดตั้งสมาคมพุทธศาสนาศึกษาแห่งโคชินจีน (Cochinchina Buddhist study society) ขึ้นที่เมืองไซง่อน และได้มีการตั้งสมาคมทางพุทธศาสนาขึ้นอีกที่เมืองเว้ (อานัม) และที่เมืองฮานอย โดยสมาคม ฯ มุ่งเน้นด้านการศึกษา และสังคมสงเคราะห์ ปฏิรูปพระวินัยของสงฆ์ และส่งเสริมให้พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาพุทธศาสนาแบบใหม่ ได้มีการจัดพิมพ์วารสารของพระพุทธศาสนาและแปลคัมภีร์ต่าง ๆ ทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท
การฟื้นฟูพุทธศาสนาในครั้งนั้น นับว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของคนระดับปัญญาชน ที่เคยประสบความผิดหวังมาจากวัตถุนิยม ทางตะวันตก โดยมาสนับสนุนการฟื้นฟูพุทธศาสนาในครั้งนั้นอย่างมากมาย แต่การเผยแผ่ฟื้นฟูพุทธศาสนาก็เป็นอันหยุดชะงัก ลงอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังสงครามโลกสงบลง การฟื้นฟูพุทธศาสนาในเวียดนามก็ได้ดำเนินการต่อไปอีก ที่เมืองฮานอยได้มีการตั้งบริหารคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ และจัดตั้งพุทธสมาคมสำหรับฆราวาสขึ้นด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่เมืองไซง่อนได้จัดตั้งพุทธสมาคมขึ้น เพื่อฟื้นฟูการศึกษาพระพุทธศาสนา แทนพุทธสมาคมเก่า ซึ่งได้ล้มเลิกกิจการไปตั้งแต่ก่อนสงครามโลก
ในปัจจุบันนี้ ประเทศเวียดนามนับถือพระพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า และขงจื้อ เป็นการนับถือผสมผสาน โดยเฉพาะทางด้านหลักธรรมคำสอน จะปฏิบัติตามคำสอนของทั้ง ๓ ศาสนา ทางด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาได้มีการเปิดสอนพระพุทธศาสนาขึ้น โดยมหาวิทยาลัยวันฮันห์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งพระพุทธศาสนา โดยการจัดตั้งขึ้นของสหพุทธจักรเวียดนาม และได้รับการรับรองจากรัฐบาลเวียดนาม เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๐๗ ในปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยฮันห์ ทำการเปิดสอน ๔ คณะคือ คณะพุทธศาสตร์ และบูรพาวิทยา คณะอักษรศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะภาษาศาสตร์ เฉพาะคณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา แบ่งออกเป็น ๙ ภาควิชา คือ ภาควิชาพุทธปรัชญา วรรณคดีพุทธศาสนา พุทธศาสนประวัติ พุทธศาสนาทั่วไป พุทธศาสนาในเวียดนาม ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาจีน และปรัชญาตะวันตก
อิทธิพลพระพุทธศาสนาต่อประเทศเวียดนาม
๑. อิทธิพลทางสังคม
๑.๑ วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่พึ่งของชุมชน เช่น
ศาลเจดีย์ หรือโรงเจดีย์ หรือหอเจดีย์ ที่เรียกว่า จัว [Chua=Pagoda] เป็นที่บูชาเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นที่ประกอบพิธีบูชา หรืองานเทศกาลทางพระพุทธศาสนา เช่น พิธี ๑ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และงานศราทธ์กลางเดือน ๗ เป็นต้น พระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือปฏิบัติตามศาลเจดีย์เหล่านั้น เป็นการผสมระหว่างนิกายเธียร (เซน) กับตินห์โด (ชิน) หรือเป็นศาสนาแบบชาวบ้าน ไม่สู้มีเนื้อหาหลักธรรมลึกซึ้งอะไร คือเป็นลัทธิบูชาเทพเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์หรือปูชนียบุคคลของจีน เช่น พระกวานอาม (กวนอิม ) เป็นต้น
๑.๒ วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา
วัดเป็นสถานที่รวมแหล่งทางการศึกษาแห่งชนชั้นทุกระดับ และยังเป็นสถานที่ชุมนุมของชาวพุทธในการพบปะปรึกษาหารือกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในด้านศาสนาและทั้งในด้านการเมือง โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำประชาชน และมีส่วนร่วมในการกอบกู้เอกราช อีกทั้งการฟื้นฟูพระศาสนา
๑.๓ พระสงฆ์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน
พระสงฆ์ถือว่ามีบทบาทต่อสังคมและความเป็นอยู่ เพราะการที่ประเทศเกิดความไม่สงบ และถูกรุกรานจากข้าศึก ประชาชนขาดที่พึ่ง และยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงต้องอาศัยวัด และมีพระสงฆ์ ซึ่งสามารถให้ความอบอุ่นใจ และกำลังใจ และยังเป็นผู้นำประชาชนในการต่อสู้กอบกู้เอกราช อยู่เคียงข้างกับประชาชน
๒. อิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ
๒.๑ เศรษฐกิจของเวียดนาม
มีลักษณะใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของไทย ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวนา ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาในด้านเศรษฐกิจการปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น คำสอนเกี่ยวกับการเลี้ยงชีวิตโดยธรรม ปราศจากการทุจริต โกง ปล้นจี้ เป็นต้น ล้วนมีอิทธิพลอยู่ในจิตใจของผู้คน
๒.๒ พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมแห่งเศรษฐกิจ
จะสังเกตเห็นได้ว่า บรรดาองค์กรต่าง ๆ ของคฤหัสถ์เกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาเกือบทั้งสิ้น เช่น องค์กรการกรรมกรชาวพุทธ องค์การพ่อค้าย่อยชาวพุทธ สหพันธ์ลูกจ้าง และข้าราชการชาวพุทธ สมาคมครูชาวพุทธ สมาคมผู้ขับรถรับจ้างโดยสารชาวพุทธ พุทธิกสตรีชาวพุทธ สมาคมเภสัชกรชาวพุทธ สมาคมนักเขียนและจิตรกรชาวพุทธ เป็นต้น องค์การเหล่านี้ถือว่า เป็นแหล่งสำคัญของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างมาก
๓. อิทธิพลทางด้านการเมือง
๓.๑ ในระบบการปกครองประเทศชาติ
มีการเอาศาสนธรรมมาเป็นหลัก ในการออกกฎหมายต่าง ๆ ของบ้านเมือง และในการนี้ พระสงฆ์ก็มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดไม่ว่าจะเป็นทางด้านศาสนา การศึกษา การเมือง และสังคม ผู้นำที่เข้าถึงพุทธศาสนาทุกระดับ จะได้รับการยอมรับเลื่อมใส ศรัทธา จากสังคมเป็นอย่างมากกว่าศาสนาอื่น ๆ
๓.๒ พระสงฆ์มีส่วนร่วม ในการต่อสู้กับการเมือง
ในสมัยรัฐบาลของโงดินเดียม พระพุทธศาสนาถูกกดขี่ ย่ำยี จากฝ่ายรัฐบาลที่นับถือคริสต์ศาสนา เป็นการทำลายความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนอย่างมาก ทำให้มีการเดินขบวนประท้วงขับไล่รัฐบาล โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำมวลชน พระภิกษุถิช กวางดึ๊ก ได้เผาตนเองเพื่อประท้วงรัฐบาลซึ่งก่อความสะเทือนใจแก่ชาวพุทธเวียดนามไปทั่วประเทศ
๓.๓ พระสงฆ์กับผลกระทบทางการเมือง
ในยุคของนายพลเหงียนเกากี ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ได้รับการต่อต้านจากชาวพุทธหัวรุนแรงอยู่ตลอด มีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการต่อสู้ ระดมมวลชนเดินขบวนไปตามท้องถนนเป็นยุค ที่เรียกว่า ยุคหลวงพี่ระดมพลกลางท้องถนน [Monk and Mobs in The Street] แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ว่ายังเป็นพลังอำนาจอันสำคัญยิ่งใหญ่ที่ฝ่ายชาวบ้านเมืองยังต้องใส่ใจ หรือต้องพึ่งพาอาศัยเช่นกัน
๓.๔ เหตุแห่งความพ่ายแพ้ทางการเมืองของพระสงฆ์
พระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นำของชาวพุทธมีจุดอ่อนสำคัญ คือ ความไม่พร้อมที่เข้าสวมบทบาทรับภาระหน้าที่ที่มาถึงได้ เพราะขาดพื้นฐานการศึกษา และ เพราะตลอดเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี ที่ฝรั่งเศสยึดครองอำนาจในเวียดนาม ประชาชนทั่วไปถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการศึกษา พระสงฆ์ที่เป็นผู้นำชาวพุทธล้วนมาจากตระกูลชาวไร่ชาวนา แม้จะได้รับการศึกษาเล่าเรียนอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงความรู้แบบเก่า ๆ ที่สืบสานมาตามประเพณี น้อยองค์นักที่จะพูดภาษาฝรั่งเศส อังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ ได้ในวงการเมืองถือว่า พระสงฆ์เป็นกลุ่มชนผู้ด้อย หรือไร้การศึกษา มีลักษณะเด่นคือ กลัว และ ดูถูกวัฒนธรรมจากภายนอก แต่มีกำลังอิทธิพลอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป
๓.๕ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์
ในสมัยนายพลเหงียน คานห์ ขึ้นครองอำนาจแทนนายพลเดือง วัน มินห์ พระสงฆ์ ที่เป็นผู้นำชาวพุทธก็ร่วมกันสนับสนุน ขบวนการต่าง ๆ เช่นองค์การเยาวชนที่เป็นฐานกำลัง พร้อมที่จะปฏิบัติการตามคำสั่งก็มีมาก ผู้นำในวงการภายนอกก็หันมาสนใจ รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ก็ต้องเอาใจ พระสามารถพูดเสียงดังเข้าไปถึงกลางเวทีการเมือง คือต้องการให้คณะสงฆ์ มีเสียงในรัฐบาล หรือว่ารัฐบาลต้องรับฟังคณะสงฆ์ ต้องการให้คนที่คณะสงฆ์เลือก หรือเห็นเหมาะสมเข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ต้องการให้รัฐอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามากขึ้น และต้องการให้เยาวชนชาวพุทธมีสิทธิ มีส่วนในชะตากรรมของสังคมเวียดนามมากขึ้น
หนังสืออ้างอิง
1.ชิตมโน. พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย. ๒๕๓๓
2.ทรงวิทย์ แก้วศรี. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เล่ม ๑๐ พระพุทธศาสนาในอินโดจีน . กรุงเทพฯ: การศาสนา. ๒๕๓๐.
3.พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯ ธรรมสภา, ๒๕๔๐.
4.พระมหาอุทัย ธมฺมสาโร. พระพุทธศาสนาและโบราณคดีในเอเซีย. กรุงเทพฯ: เฟื่องอักษร. ๒๕๑๖.
5.พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖.
6.เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕