องค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ป.ธ. ๖) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงดำรงตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๑พรรษาเศษ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ พระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา
พระองค์มีพระนามเดิมว่า ปุ่น ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี การศึกษาในเบื้องต้น เรียนกับบิดาของท่าน จนอ่านออกเขียนได้ แล้วจึงไปเรียนภาษาบาลี อักษรขอม และมูลกัจจายน์ (กับพระอาจารย์หอม และอาจารย์ จ่าง) ที่วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อพระชนม์ได้ ๑๐ พรรษา (พระอาจารย์หอมได้พามาฝากให้เป็นศิษย์พระอาจารย์ป่วน) ได้มาอยู่ที่วัดมหาธาตุ ฯ เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ได้ย้ายมาอยู่กับพระอาจารย์สด (พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำภาษีเจริญ) ณ วัดพระเชตุพน แล้วกลับไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐
พ.ศ. ๒๔๕๖ สอบได้นักธรรมตรี
พ.ศ. ๒๔๕๘ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ขณะเป็นสามเณร
พ.ศ. ๒๔๖๒ สอบได้นักธรรมโท
พ.ศ. ๒๔๖๓, ๒๔๖๖, ๒๔๗๐ สอบได้เปรียนธรรม ๔,๕ และ ๖ ประโยคตามลำดับ
พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎก แผนกพระวินัย เป็นภาษาไทย
พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานสมศักดิ์ เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระอมรเวที เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นคณาจารย์เอกทางเทศนา
พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาคบูรพา ( ๘ จังหวัด ภาคตะวันออก ) เป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาค ๒ ( ๑๐ จังหวัดภาคกลาง ) และเป็นกรรมการสังคายนา พระธรรมวินัย
พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นสมาชิกสังฆสภา
พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี
พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน และเป็นกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ ๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการสังมาณัติระเบียบพระคุณาธิการ และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมดิลก
พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๒ (ภาคบูรพาเดิม) และเป็นสภานายกสภาพระธรรมกถึก
พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ ๒
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ ๓ และ ๔ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๗ (๘ จังหวัดภาคกลาง) เป็นกรรมการเจ้าคณะตรวจการภาค และเป็นอนุกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการ และประชาชน
พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระธรรมโรดม และเป็นสังฆมนตรี (ว่าการองค์การสาธารณูปการ) สมัยที่ ๕
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นสังฆมนตรี (ว่าการองค์การเผยแผ่) สมัยที่ ๖
พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัต และเป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลี
พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และรักษาการเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก หนเหนือ และหนใต้
พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นแม่กองงาน พระธรรมทูต
พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็นผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ระหว่างที่พระองค์เสด็จเยือนลังกา
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ผลงานของพระองค์ นอกจากที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฎิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ และงานพิเศษต่าง ๆ ที่ได้รับมอบอย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีงานด้านพระศาสนาที่ทรงริเริ่มพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ
งานด้านการก่อสร้าง และปฎิสังขรณ์ ทรงก่อสร้างและปฎิสังขรณ์ทั้งปูชนียสถานเช่น พระอาราม สาธารณสถาน เช่น พิพิธภัณท์ โรงเรียน โรงพยาบาล ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก
งานด้านมูลนิธิ ทรงก่อตั้งและสนับสนุนมูลนิธิ ที่ดำเนินงานด้านธรรม ด้านวิชาการ และการศึกษา และด้านสาธารณูปการ เป็นจำนวนมาก
งานด้านพระนิพนธ์ มีพระธรรมเทศนาจำนวนมาก วันสำคัญทางศาสนา ประมวลอาณัติคณะสงฆ์ สารคดี เช่น สู่เมืองอนัตตา พุทธชยันตี เดีย-ปาล ( อินเดีย-เนปาล ) สู่สำนักวาติกัน และนิกสัน และบ่อเกิดแห่งกุศล คือ โรงพยาบาล เป็นต้น ธรรมนิกาย เช่น จดหมายสองพี่น้อง สันติวัน พรสวรรค์ หนี้กรรมหนี้เวร ไอ้ตี๋ ดงอารยะ เกียรติกานดา คุณนายชั้นเอก ความจริงที่มองเห็น ความดีที่น่าสรรเสริญ อภินิหารอาจารย์แก้ว กรรมสมกรรม
งานด้านต่างประเทศ ทรงไปร่วมประชุมฉัฎฐสังคายนาพระไตรปิฎก ณ ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ไปร่วมงานฉลองพุทธชยันตี (๒๕ พุทธศตวรรษ) ณ ประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นอกจากนี้ยังทรงไป และสังเกตุการณ์ พระศาสนาและเยือนวัดไทยในต่างประเทศ อีกเป็นจำนวนมาก