ค้นหาในเว็บไซต์ :

มงคลที่ ๓๐ การสนทนาธรรมตามกาล

กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา

๏ ยามหดหู่ ฟุ้งซ่าน กาลสงสัย
เป็นสมัย ไต่ถาม ตามเหตุผล
เพื่อบรรเทา คลี่คลาย หายกังวล
ควรจะสน- ทนาธรรม ตามที่ควร ๛

 

การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย

ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ

๑. ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี

๒. ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์

๓. ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ

๔. ต้องพูดด้วยความเมตตา

๕. ต้องไม่พูดจาโอ้อวด หรือยกตนข่มท่าน

ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม

๑. มีศีลธรรม คือการเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นนิจศีลอยู่แล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ขั้นต้นในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

๒. มีสมาธิดี คือการมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนทนา ไม่ว่อกแวก พร้อมทั้งเป็นผู้ที่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาด้วย

๓. แต่งกายสุภาพ คือการแต่งตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมแวดล้อม ณ ที่นั้นๆ ถูกกาลเทศะ

๔. มีกิริยาสุภาพ คือมีความสุภาพในท่วงท่าไม่ว่าจะเดิน นั่ง ยืน หรือการกระทำใดๆ การที่มีกิริยางดงาม สุภาพย่อมโน้มน้าวจิดใจผู้พบเห็นให้เกิดความประทับใจที่ดี

๕. ใช้วาจาสุภาพ คือการใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือก้าวร้าว

๖. ไม่กล่าวค้านพระพุทธพจน์ คือการไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นข้อสงสัย หรือกล่าวค้าน เพราะสิ่งที่กล่าวไว้ในพระพุทธพจน์ย่อมเป็นความจริงตลอดกาล

๗. ไม่ออกนอกประเด็นที่ตั้งไว้ คือการพูดให้อยู่ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง

๘. ไม่พูดนานจนน่าเบื่อ คือการเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากเรื่องบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องขยายความมากเกินไป

 





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย