วัดศรีธรรมาราม เดิมชื่อ วัดท่าชี , วัดนอก และวัดท่าแขกตามลำดับ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ พระพุทธมงคลรุ่งโรจน์ หรือ หลวงพ่อพระสุก มีพระครูประสิทธิ์สีลคุณ (ประสิทธิ์ กันตสีโล) เป็นเจ้าอาวาส
ประวัติ
เป็นวัดเก่าแก่ในเขตชุมชนบ้านสิงห์ท่ามาอย่างยาวนาน จนในอดีตเจ้าเมืองยโสธรได้บูรณะวัดศรีธรรมาราชในช่วงปี 2416 เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในเขตชุมชนบ้านสิงห์ท่า เป็นสถานที่จำพรรษาของหลวงปู่พวง สุขินทริโย พระเกจิอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บรรยากาศโดยรอบวัดสงบเงียบ อยู่ติดกับแม่น้ำชี ในวัดมีพิพิธภัณฑ์หลวงตาพวง หอไตรกลางน้ำ ใบเสมาหินทราวดี และรอยพรพุทธบาท
วัดศรีธรรมาราม สร้างครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2395 ในสมัยรัชกาลที่ 4 มูลเหตุของการสร้างวัดมาจากการสิ้นชีวิตของครอบครัวเจ้าอุปราชบุตร และเจ้าคำม่วน ซึ่งเป็นญาติของพระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต) เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร องค์ที่ 3 ด้วยความอาลัยรันทดในวิบากกรรมของท่านทั้งหลายนั้น เจ้าผู้ครองเมืองจึงได้สร้างวัดนี้ไว้เพื่อเป็นที่รำลึกนึกถึงด้วยท่านเหล่านั้นได้สิ้นชีวิตโดยการถูกประหารใน "คุกเพลิง" และได้สร้างพระอุโบสถครอบสถานที่ทำการประหาร ชื่อวัดจึงบอกถึงความหมายและความเป็นมา หลังจากการสร้างวัดแล้วก็มีการเปลี่ยนชื่อวัดหลายต่อหลายครั้ง
ปี พ.ศ. 2416 พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าเหม็น) ได้นำไพร่พลชาวเมืองยศสุนทรมาบูรณปฏิสังขรณ์วัต่อจากพระบิดา เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น วัดศรีธรรมหายโศก และเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสด็จฯ มาประพาสเมืองยศสุนทร จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นชื่อวัดเป็น วัดอโศการาม ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงโปรดประทานชื่อให้ใหม่ว่า วัดสร่างโศกเกษมสันต์ จนมาปี พ.ศ. 2500 พระครูพิศาลศีลคุณ (บุญสิงห์ สีหนาโท) เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า วัดศรีธรรมาราม ตราบจวบจนปัจจุบัน
ตำนานหลวงพ่อพระสุก
ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารหลายแห่ง ร่วมทั้งจากการสอบถามพยานบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ มาจัดทำเป็นหนังสือ”เจดีย์พระสุก และ พิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ” เพื่อเป็นที่ระลึกงานสมโภชเจดีย์พระสุกและพิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 ใจความบางส่วนจากหนังสือที่ระลึก คือ ตามประวัติและหลักฐานที่จารึกไว้เล่าว่า ผู้ที่นำหลวงพ่อพระสุกมามอบไว้ให้ที่วัดศรีธรรมาราม คือ พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ (จิตร จิตตยะโศธร) ต้นตระกูลจิตยะโศธร ซึ่งชีวิตในวัยเด็กของท่านมีความผูกพันกับวัดศรีธรรมาราม และเมืองยโสธรเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลอุดร ช่วงปี พ.ศ. 2467 ท่านได้ใช้ให้นักโทษต้องโทษประหารจำนวน 8 คน ไปค้นหาพระสุกจากลำน้ำโขง หากทำสำเร็จก็จะได้รับการละเว้นโทษตาย ซึ่งปรากฏว่านักโทษงมหาหลวงพ่อพระสุกจนพบ และสามารถอัญเชิญขึ้นมาได้ แต่เรื่องราวนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย
จากบันทึกรายการทรัพย์สินในพระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม คราวที่พระครูวิจิตตวิโสธนาจารย์ (ทองพูล โสภโณ) เจ้าอาวาสลำดับที่ 2 บูรณะพระอุโบสถ (ช่วงปี พ.ศ. 2467 – พ.ศ. 2473) รายการทรัพย์สินลำดับที่ 5 ได้มีการบันทึกไว้ว่า มีพระปางสมาธิพระนามว่า คำภีรพุทธเจ้า ฐานเป็นเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 27 นิ้วฟุต นับรวมตั้งฐานสูง 41 นิ้วฟุต สร้างแต่ยุคเวียงจันทน์ยังดำรงเอกราช เป็นพระขัดเงา พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ เป็นเจ้าของ ราคาประมาณ 800 บาท จากเอกสารนี้ทำให้ทราบว่า พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์สำคัญมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม คราวบูรณะพระอุโบสถ พ.ศ. 2467 – พ.ศ. 2473 เพื่ออุทิศส่วนกุศลแต่ พระอาจารย์มี คัมภีโร บิดาของท่าน โดยใช้พระนามว่า คัมภีรพุทธเจ้า ซึ่งพ้องกับฉายาเดิมของบิดาท่าน
เรื่องราวเกี่ยวกับ พระสุก นี้อาจจะคลุมเครือ แต่องค์ที่ประดิษฐาน ณ เจดีย์พระสุกและพิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ มีลักษณะเป็นจริงที่สุด คือ ลักษณะขององค์พระที่อ่อนช้อย งดงาม ตามแบบศิลปล้านช้าง เนื้อองค์พระมีความเก่าและความหนัก บริเวณฐานมีร่องรอยกัดกร่อนด้วยจมน้ำเป็นเวลานาน (ราว 100 ปี จาก พ.ศ. 2371 – 2467 โดยประมาณ) รอยคราบโคลนยังปรากฏให้เห็น ผู้ที่อัญเชิญมาคือ พระยาอุดรธานีฯ อดีตเจ้าเมืองอุดร ซึ่งเป็นข้าฯ พระบาทที่ใกล้ชิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) และมีหลักฐานว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงความเห็นเกี่ยวกับ พระสุก พระเสริม พระใส ว่าเป็นพระพุทธรูปล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ และทรงสันนิษฐานว่า อาจเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากเมืองหนึ่งเมืองใด ทางตะวันออกของอาณาจักรล้านช้าง และต่อมาตกอย่ในเขตล้านช้าง หรืออาจสร้างขึ้นในเขตล้านช้างโดยฝีมือชาวลาวพุงขาวล้านช้าง ซึ่งเป็นไปได้ว่าพระองค์ทรงเคยเห็นพระพุทธรูปทั้ง 3 พระองค์นี้ ท่านพระยาอุดรธานีฯ ถือได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ เพราะได้ติดตามสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาตลอด ทำให้ทราบถึงความสำคัญของพระสุก และสามารถค้นพบ และได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดศรีธรรมาราม แห่งเมืองยโสธร เพื่อเป็นอนุสรณ์แทนคุณแผ่นดินเกิดของท่าน และเมืองยโสธร มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับเมืองเวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์มาช้านาน
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จมาที่วัดศรีธรรมารามแห่งนี้ และให้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดศรีธรรมหายโศก เป็นวัดอโสการาม ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีธรรมาราม
พระราชสุทธาจารย์ (รักษาการเจ้าอาวาดวัดศรีธรรมารามองค์ปัจจุบัน พ.ศ. 2559) เคยเล่าว่า หลวงตาพวงได้กล่าวย้ำๆ กับท่านว่า นี่แหละหลวงพ่อพระสุก นี่แหละหลวงพ่อพระสุก เมื่อครั้งที่หลวงตาพวงยังมีชีวิตอยู่ หลวงตามีความปรารถนาที่จะสร้างวิหารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานแห่งองค์พระสุก แต่เนื่องจากราคาค่าก่อสร้างสูงเป็นสิบๆ ล้านบาท ท่านก็พิจารณาว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะการรับกิจนิมนต์แต่ละครั้งของหลวงตา ชาวบ้านได้ทำบุญด้วยความศรัทธาตามกำลังของชาวบ้าน จึงเกรงว่าจะก่อให้เกิดความยุ่งยากลำบากใจในภายหลัง หลวงตาจึงเก็บรักษา พระสุก ไว้เป็นอย่างดี คอนขยับเปลี่ยนที่ประดิษฐาน ใช้ชื่อพระคัมภีรพุทธเจ้า และพระพุทธมงคลรุ่งโรจน์ แทนชื่อพระสุก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เกรงว่าจะโดนขโมย ได้มีการทำเรื่องส่งให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี ทำการขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2548
พระอุโบสถ พระเจดีย์
ใบเสมาหินสมัยทวารวดี
พิพิธภัณฑ์หลวงตาพวง