วัดท่าหลวง พิจิตร





วัดท่าหลวง พิจิตร พระอารามหลวง ชั้นตรี สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2388
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2492


ประวัติวัดท่าหลวงพระอารามหลวง
วัดท่าหลวง พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๖๗๔ ถนนบุษบา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตรจังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ ๖๖๐๐๐ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด สามัญสังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ภาค ๔ หนเหนือ ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่จำนวน ๔๖ไร่ ๓ งาน๑๗.๔ ตารางวา น.ส. ๓ ก เลขที่ ๔๗๐, ๔๗๑ น.ส. ๓ เลขที่ มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๒ แปลงมีเนื้อที่จำนวน ๓๐ ไร่ ๒ งาน ๔๒ ตารางวา ตามโฉนดตราจอง และ น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๒๖, ๒๑๙ อยู่ที่ตำบลในเมือง และ ตำบลหนองปลาไหลแห่งละหนึ่งแปลง

ตั้งวัดพุทธศักราช ๒๓๘๘ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๒ เขตแดนวิสุงคามสีมา กว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๖ เมตร เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ - ๒๕๑๓ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๙

เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองพิจิตรอายุนับร้อยปี อันเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนที่มีอายุกว่า 800 ปี ซึ่งหล่อด้วยทองสำริด และมีพุทธลักษณะงามล้ำเกินคำบรรยาย องค์พระมีหน้าตักกว้าง 1.40 เมตร สูง 1.60 เมตร ตามประวัติเล่าว่า พระพิจิตรผู้เป็นเจ้าเมืองอยากได้ พระประธานมาประดิษฐานที่เมืองพิจิตร เมื่อทัพกรุงศรีอยุธยาเดินทางผ่านเมืองเพื่อไป ปราบขบถจอมทองเมืองเชียงใหม่ พระพิจิตรจึงได้ขอร้องแม่ทัพว่า หากปราบขบถเสร็จแล้ว ขอให้หาพระพุทธรูปมาฝาก ครั้นเมื่อเสร็จศึก แม่ทัพนั้นได้อาราธนาพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร ลงแพลูกบวบล่องมาทางแม่น้ำปิง โดยฝากเจ้าเมืองกำแพงเพชรไว้ จากนั้นได้อาราธนาหลวงพ่อเพชรมา ประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถวัดนครชุมก่อน แล้วจึงย้ายมาประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดท่าหลวง อำเภอเมืองพิจิตร จนถึงปัจจุบัน พระอุโบสถเปิดให้ประชาชนเข้านมัสการหลวงพ่อเพชรได้ทุกวัน


- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• หลวงพ่อเพชร •



พระอุโบสถ
การก่อสร้างพระอุโบสถหลวงพ่อเพชร เดิมที่พระอุโบสถหลังเก่าของวัดท่าหลวงได้สร้างด้วยไม้ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๒ ตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา เอกศก ๑๒๗๑ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ ได้มีพระยาพิชัยณรงค์สงคราม (ดิษ) เจ้าเมืองพิจิตร (เผื่อน) ภริยา และนายคอน ผู้เป็นบุตร พร้อมใจกันสร้างพระอุโบสถหลังนี้ มิได้แข่งขันกับวัดใดวัดหนึ่ง โดยมิได้มีที่เดือดร้อน และมีผู้ร่วมบริจาคหลายรายเพราะพระอุโบสถได้ชำรุดปรักหักพังมานาน พระสงฆ์ได้รับความเดือดร้อนมากในการกระทำสังฆกรรม จึงคิดอำนวยการนี้ขึ้น การสร้างพระอุโบสถของท่านเจ้าเมืองพิจิตรดังกล่าวมาแล้วนั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชรแทนพระอุโบสถหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมและเดิมสร้างเป็นฝากระดานหลังคามุงด้วยสังกะสี พระอุโบสถหลังนี้สร้างอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเดิม ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงได้สร้างขึ้นมาใหม่อายุกว่า ๔๐ ปี ชำรุดทรุดโทรมมาก พอถึงปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ พระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (หลวงปู่ไป๋) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงในขณะนั้น ได้เป็นประธานในการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ที่มีความวิจิตรงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๒๗ เมตร พระอุโบสถหลวงพ่อเพชรได้สร้างสำเร็จเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ แล้วได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ที่แทนรองรับในพระอุโบสถ



องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปมีพระพุทธลักษณะที่งดงาม และทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดท่าหลวง(พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

หลวงพ่อเพชรนอกจากจะเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามทรงรูปศิลป์แล้ว พระพุทธลักษณะองค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก หล่อด้วยโลหะสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ซ้ายสังฆาฎิสั้นเหนือพระอุระ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว สูง ๓ ศอก ๓ นิ้ว ที่ที่ประทับนั่งนบฐานที่มีรูปบัวคว่ำบัวหงายรอบรับ สร้างในระหว่างปีพุทธศักราช ๑๖๖๐ ถึง ๑๘๘๐ สร้างมาแล้วประมาณ ๘๘๒ ปี

หลวงพ่อเพชรยังเป็นพระพุทธรูปทรงอานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยกิตติศัพท์นานัปประการเมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตรจะต้องไปนมัสการหลวงพ่อเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ที่ว่าหลวงพ่อเพชรทรงอานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์นั้น เนื่องจากมีประชาชนที่นับถืออย่างมาก เมื่อใครมีเรื่องเดือดร้อน เช่น ของหาย หรือมีความทุกข์ยากที่จะบนบานศาลกล่าวขออำนาจหลวงพ่อเพชรให้ช่วยปกป้องรักษา หรือปัดเป่าความทุกข์ยากให้หมดไป เดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชร ก็จะช่วยทุกรายเมื่อผู้นั้นพ้นทุกข์ก็จะนำหัวหมู เป็ด ไก่ ขนม ไปถวายแด่หลวงพ่อเพชรที่พระอุโบสถกลิ่นธูปและควันเทียนจะไม่ขาดระยะ

ชาวพิจิตรทุกผู้ทุกนาม ต่างให้ความเคารพนับถืออย่างสูงต่อพระองค์หลวงพ่อเพชร ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญศูนย์รวมใจของชาวพิจิตร พลังแห่งความนัยถือ พุทธานุภาพของหลวงพ่อเพชรจะไม่จางหายไปจากหัวใจของชาวพุทธ

ประวัติการสร้างหลวงพ่อเพชรยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดแน่นอน เพียงแต่มีตำนานเล่าขานกันสืบมาตั้งแต่้ครั้งบรรพกาลว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เกิดขบถจอมทองเมืองเชียงใหม่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ไปปราบปรามขบถจอมทอง เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร แม่ทัพก็ได้สั่งให้หยุดพักรี้พลที่เมืองพิจิตร ซึ่งทางเจ้าเมืองพิจิตรก็ได้ให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่กองทัพเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาหายเหนื่อยแล้ว จึงออกเดินทางจากเมืองพิจิตร แต่ก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตรได้ไปปรารภกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบขบถเสร็จเรียบร้อยดีแล้วขอให้หาพระพุทธรูปงาม ๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง

ฝ่ายทางแม่ทัพเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ หลังจากนั้นก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาก็นึกถึงคำร้องของเจ้าเมืองพิจิตร จึงอัญเชิญหลวงพ่อเพชรจากจอมทองมาด้วย โดยประดิษฐานบนแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำแม่ปิง เมื่อมาถึงเมืองกำแพงเพชรก็ได้ฝากหลวงพ่อเพชรไว้กับเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองพิจิตรทราบข่าวจึงพร้อมด้วยชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมาก ได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ ที่วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตรซึ่งนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ชาวพิจิตรเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์จะหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเพื่อนำไปไว้ที่วัดเบญจมบพิตร จังหวัดพระนคร เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สหมุเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก จึงได้สั่งให้หระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ขณะนั้นแสวงหาพระพุทธรูปที่สวยงามตามพระราชประสงค์ เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้นพระยาเทพาธิบดีจึงออกตรวจดูพระพุทธรูปทั่ว ๆ ไปในเมืองพิจิตร ก็พบว่าองค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามตามพระราชประสงค์ และเพื่อสะดวกในการขนย้าย จึงได้จ้างชาวณวนคนหนึ่งชื่ออาง ทำการทะล่วงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรการทะลวงหุ่นดินนั้นก็เพื่อต้องการให้น้ำหนักเบา แล้วนำขึ้นเกวียนมาลงเรือชะล่า มีปรำลากจูงด้วยเรือพาย และเมื่อมาถึงเมืองพิษณุโลกก็เทียบท่าอยู่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุ

หลังจากนั้นเจ้าเมืองพิจิตร พระยาเทพาธิบดี ก็ได้ไปกราบเรียนสมุหเทศาภิบาลว่า ได้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว และกราบเรียนต่อไปว่า การนำหลวงพ่อเพชรมาครั้งนี้ชาวเมืองพิจิตรทุกคนมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก เพราะเสียดายในองค์หลวงพ่อเพชรในฐานะที่เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่เดิม เมื่อได้ทราบดังนั้น สมุหเทศาภิบาลจึงได้โปรดทราบตรวจดูพระพุทธรูปก็เห็นว่างดงามจริง ๆ ดังคำบอกเล่าของเจ้าเมืองพิจิตร แต่มีขนาดองค์ใหญ่โตเกินไป อีกประการหนึ่งก็เห็นว่าเป็นการทำลายจิตใจของชาวเมืองพิจิตร จึงได้สั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำกลับไปไว้ที่เมืองพิจิตรตามเดิม การนำเอาหลวงพ่อเพชรกลับมายังเมืองพิจิตรคราวนี้นั้น ไม่ได้นำไปไว้ที่อุโบสถที่วัดนครชุมเหมือนเดิม แต่นำมาไว้ที่วัดท่าหลวง โดยทำปรำคลุมไว้เป็นการชั่วคราว

เมื่อประชาชนรู้ข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรกลับมาที่เมืองพิจิตร ต่างก็พากันมาปิดทองนมัสการอยู่ที่วัดท่าหลวง จึงได้ปรึกษาหารือกันจะแห่แหนหลวงพ่อเพชรกับไปวัดนครชุมอย่างเดิมส่วนราษฎรทางเมืองใหม่เห็นว่า เมืองพิจิตรได้ย้ายมาตั้งใหม่แล้ว หลวงพ่อเพชรก็ควรจะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวเมืองใหม่ด้วย จึงไม่ยินยอมให้ชาวเมืองเก่านำกลับไปวัดนครชุม

เหตุการณ์ตอนนี้มีผู้เล่าขานว่า ขนาดเกิดการยื้อแย่งกัน และถึงขั้นการเตรียมอาวุธเข้าประหัตประหารกัน เดือดร้อนถึงพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น ต้องออกห้ามทัพด้วยเดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชร ประกอบกับชาวเมืองพิจิตรเคารพนับถือท่านมาก ศึกครั้งนั้นจึงยุติลง และได้ชี้แจงว่าจะหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองเท่ากับขนาดองค์จริง เพื่อนำกลับไปให้ชาวเมืองเก่าแทนองค์หลวงพ่อเพชรองค์จริง ส่วนหลวงพ่อเพชรองค์จริงนั้นขอให้ประดิษฐานไว้ที่วัดท่าหลวงซึ่งท่านเป็นเจ้าโอวาสอยู่ และถ้าชาวเมืองเก่าจะมานมัสการก็ไม่ไกลเกินไปนัก ชาวเมืองพิจิตรก็เชื่อฟังแต่โดยดีไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

องค์หลวงพ่อเพชรจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าหลวงตราบเท่าทุกวันนี้ อีกเหตุการณ์หนึ่งที่องค์หลวงพ่อเพชรได้ประดิษฐานที่วัดท่าหลวงนั้น มีคนเล่าสืบต่อกันมาว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธชินราชจากวัดศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมพิตร ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ พรองค์จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่งดงามสมควรที่จะนำไปแทนพระพุทธชินราชได้ จึงมีคำสั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำองค์หลวงพ่อเพชรไปยังเมืองพิษณุโลก

ข่าวการที่ราชการจะนำองค์หลวงพ่อเพชรไปล่วงรู้ไปถึงประชาชน ต่างพากันเสียดายและหวงแหนองค์หลวงพ่อเพชรเป็นอันมาก จึงได้คบคิดกับนายอาง ซึ่งเป็นชาวญวนจัดการทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก เพื่อให้น้ำหนักเบาสะดวกในการขนย้าย เมื่อจัดการทะลวงหุ่นดินออกแล้วก็ช่วยกันย้ายองค์หลวงพ่อเพชรไปซ่อนไว้ในป่า และเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ มิได้หยุดหย่อนข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรเคลื่อนย้าย หาได้พ้นการติดตามและค้นหาของเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมือง ผลที่สุดก็ใช้อำนาจบังคับให้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาจากเมืองเก่า และได้นำมาพักไว้ชั่วคราวที่วัดท่าหลวง เพื่อรอการนำไปยังเมืองพิษณุโลก

ชาวเมืองพิษณุโลกก็เช่นเดียวกันกับชาวเมืองพิจิตร เมื่อทางราชการจะนำองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชไปจากพวกเขา ต่างก็พากันหวงแหนโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้กันทั่งเมือง เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ทานเจ้าคุณสมุหเทศาภิบาล จึงไดนำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงทราบก็เห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ระงับการนำพระพุทธชินราชไปกรุงเทพฯ โดยจะหล่อพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรแทน เมื่อหลวงพ่อพุทธชินราชไม่ได้เคลื่อนย้ายไปกรุงเทพฯ องค์หลวงพ่อเพชรจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ข้อมูล : หอมรดกไทย





ศาลาการเปรียญ



วิหารจตุรมุข



ประเพณีของวัดท่าหลวง เริ่มตั้งแต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ประมาณ พ.ศ. 2450 ในการจัดรางวัลการแข่งขันเรือยาวประเพณีนั้น ในสมัยหลวงพ่อเอี่ยมและต้นสมัยหลวงพ่อไป๋นั้น จัดผ้าห่มหลวงพ่อเพชรพับใส่พานให้เป็นรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศแก่เรือยาวเมื่อเรือยาวลำใดได้ผ้าห่มหลวงพ่อเพชรไปแล้ว วัดท่าหลวงเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วงต้นเดือนกันยายน ในวันแรม 6 ค่ำ เดือน 10 และจัดแข่งขันเพียงวันเดียว ประชาชนให้ความสนใจมาชมงานอย่างคับคั่งล้นหลามตลอดมา เพราะวัดท่าหลวงตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิจิตรเพียงวัดเดียวเท่านั้น และต่อมามีการเพิ่มวันในการจัดงานให้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยรางวัล เนื่องในการแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร รายได้จากการจัดงาน ก็มากขึ้นมีผลให้เงินสุทธิของงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรก็จะนำรายได้สุทธิจากงานนั้นส่วนหนึ่งถวายวัดท่าหลวง ทางวัดได้นำเงินจำนวนนี้บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดท่าหลวง



หลวงพ่อพัฒน์ (พัด) วัดท่าหลวง




11,203







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย