วัดทรงศิลา ชัยภูมิ





วัดทรงศิลา ชัยภูมิ พระอารามหลวง ชั้นตรี สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2417
วันรับวิสุงคามสีมา : 13/02/2522


ตั้งอยู่เลขที่ 179 ถนนราชทัณฑ์ หมู่ที่ 1 บ้านหินตั้ง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ รหัสไปรษณีย์ 36000
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ทั้งหมด 8 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา

วัดทรงศิลา พระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านหินตั้ง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เป็นวัดราษฎร์มาแต่เดิม จากประวัติจังหวัดชัยภูมิ และตามพงศาวดารกรุงเทพฯ จ.ศ. 1225 กล่าวถึงบ้านหินตั้งไว้ว่า "...เมื่อ พ.ศ. 2406 (จ.ศ.1225) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงวิเศษภักดี (ที) บุตรพระยาภักดีชุมพล (แล) เป็นพระภักดีชุมพล ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ ให้หลวงยกกระบัตร (บุญจันทร์) เป็นหลวงปลัด ให้หลวงขจรนพคุณ เป็นหลวงยกกระบัตร ประกาศให้ราษฎรที่อพยพโยกย้ายไปประกอบอาชีพในถิ่นต่างๆ กลับคืนสู่ถิ่นเดิม..."

ในสมัยพระภักดีชุมพล (ที) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมินั้น พิจารณาเห็นได้ว่า บ้านหินตั้ง (ที่ตั้งเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) เป็นที่ทำเลกว้างขวางมีชัยภูมิดี จึงได้ย้ายเมืองจากโนนปอปิด (บริเวณปรางค์กู่กับหนองบัวเมืองเก่า) มาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านหินตั้ง และอยู่มาจนทุกวันนี้ พระภักดีชุมพล (ที) รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาได้ 12 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อถือตามคตินี้ ถือได้ว่าบ้านหินตั้งมีมานานแล้ว วัดทรงศิลา เดิมเรียกชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดหินตั้ง สันนิษฐานว่าได้สร้างในสมัยของพระภักดีชุมพล (ที) ในระหว่างปี พ.ศ. 2402 - 2418 ต่อมา พ.ศ. 2440 พระหฤทัย (บัว) เจ้าเมืองชัยภูมิ ได้เปลี่ยนชื่อวัดหินตั้งเป็นภาษาทันสมัยว่า วัดทรงศิลา ซึ่งแปลตามตัวอักษร ก็แปลว่า "หินตั้ง" นั่นเอง นี้เป็นการสันนิษฐานจากเรื่องราวในพงศาวดาร และปัจจุบันก็ได้ยึดเอาปี พ.ศ. 2418 เป็นปี พ.ศ. ตั้งวัดทรงศิลา เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนวัดสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• หลวงพ่อโต •



พระอุโบสถ พระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2522 กว้าง 7 เมตร ยาว 10 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่



พระพุทธรูปปางมารวิชัย หลวงพ่อโต พระประธานในพระอุโบสถ (องค์หน้า)
ประวัติหลวงพ่อโตวัดทรงศิลา พระอารามหลวง
หลวงพ่อโตเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดทรงศิลา พระอารามหลวง สร้างระหว่างปีพ.ศ 2467 - 2516 เมื่อพระราชมุนี (พรม ญาณวโร ไชยศิลป์) รื้อถอนอุโบสถหลังเก่าเพื่อสร้างใหม่ในปีพ.ศ 2516 นั้น ชาวชัยภูมิได้ชะลอไปประดิษฐานไว้หน้าพระอุโบสถเป็นการชั่วคราวก่อน ต่อเมื่อสร้างอุโบสถใหม่เสร็จแล้วจึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถตามเดิม หลวงพ่อโตมีขนาดหน้าตักกว้าง 150 นิ้วสูง 200 นิ้วเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยปูนซีเมนต์ลงรักปิดทอง การสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโตนี้มีประวัติตามคำบอกเล่าสืบๆกันมาว่า เมื่อพระยาภูมิชัย (เฮง ศรีไชยยันต์) เจ้าเมืองชัยภูมิ (พ.ศ 2465 -2471) ได้นำประชาชนชาวบ้านสร้างอุโบสถแล้วก็ให้ช่างมาปั้นพระประธานตามขนาดที่ต้องการคือขนาดเท่าองค์จริงในขณะนี้นั่นเอง พอช่างปั้นเสร็จแล้วพระยาภูมิพิชัยและคณะก็มาตรวจพิจารณาดูประชาชนพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าพระพักตร์เหมือนแกว พระยาภูมิพิชัยก็ว่า เออ! จริงเพราะช่างปั้นเป็นคนญวน จะทำอย่างไรดีล่ะประชาชนก็เสนอว่าให้เปลี่ยนพระพักตร์ใหม่ พระยาภูมิพิชัยเห็นดีด้วยจึงให้หาช่างคนใหม่มาแก้ไขโดยว่าจ้างให้ตกแต่งแก้ไขจนสุดความสามารถ จนมีพระพักตร์เอิบอิ่มสวยงามถูกใจดีแล้วก็รายงานให้พระยาภูมิชัยมาตรวจดู ขณะที่พระยาภูมิชัย เพ่งพินิจดูอย่างรอบคอบอยู่นั้นประชาชนก็พากันวิพากษ์วิจารณ์อีกว่าพระพักตร์เหมือนเจ๊ก พระยาภูมิพิชัยก็ว่า เออ! จริงเพราะช่างเป็นคนจีน จะทำอย่างไรดีล่ะประชาชนก็ว่าสุดแล้วแต่พ่อเมืองจะตัดสินใจ ดังนั้นพระยาภูมิพิชัย เจ้าเมืองชัยภูมิ จึงตัดสินใจให้หลวงบรรจงวิชาเชิดเป็นผู้ควบคุมการตกแต่งพระพักตร์และให้ประชาชนพร้อมข้าราชการดูแลให้ความคิดเห็น ในที่สุดก็ได้พระพุทธรูปที่มีพระพักตร์ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ถึงกระนั้นก็ไม่วายที่ประชาชนจะพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าพระพักตร์คล้ายหลวงบรรจงวิชาเชิดแต่คนทั้งหลายก็ยังมีความพอใจ จึงได้ขนานพระนามพระประธานองค์นี้ว่า หลวงพ่อโต เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วพระยาภูมิพิชัยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงเทพฯมาบรรจุไว้ที่พระเศียรพระพุทธรูปองค์นี้จึงเชื่อได้ว่าหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งในจังหวัดชัยภูมิด้วยประการฉะนี้

ข้อมูลจาก:หนังสือที่ระลึกฉลอง"กุฏิทีโอที ประชาสรรค์ พ.ศ.2555"



พระวิหารเฉลิมพระเกียรติ



หอพระเฉลิมพระเกียรติ



ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง หลังคามุงกรเบื้องเคลือบ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2503



รอยพระพุทธบาท



ยักษ์วัดทรงศิลา




10,997







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย