วัดท่าโพธิ์ วรวิหาร นครศรีธรรมราช





วัดท่าโพธิ์ วรวิหาร นครศรีธรรมราช พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุตินิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2327
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2327


เลิกวัง ตั้งวัด ประวัติความเป็นมา วัดท่าโพธิ์วรวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์

วัดท่าโพธิ์วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ฝ่ายธรรมยุตินิกาย ตั้งอยู่ที่ ถ.ท่าโพธิ์ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีความเป็นมาเริ่มต้น ในยุคกรุงศรีอยุธยา ก่อนรกร้างไปหลายร้อยปี จนได้มีการบูรณะพลิกฟื้นกลับมาเป็นวัดอีกครั้ง

จากการค้นคว้าและเขียนประวัติความเป็นมาของวัดท่าโพธิ์วรวิหาร โดย ครูน้อม อุปรมัย อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรนครศรีธรรมราช ๔ สมัย ได้กล่าวประวัติของวัดท่าโพธิ์ ไว้ในหนังสือที่ระลึกของวัดท่าโพธิ์ว่า แต่เดิมแล้ว วัดท่าโพธิ์นั้นตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์ โดยปรากฏหลักฐานพระพุทธรูปยุคโบราณองค์ใหญ่ ที่มีการสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระประธานของพระอุโบสถ ความเป็นมาเริ่มต้นของวัดท่าโพธิ์ สันนิษฐานว่า ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในราวปี พ.ศ. ๒๐๒๗ ซึ่งชื่อของวัด มาจากภูมิประเทศของวัด ที่ตั้งอยู่ใกล้กับท่าน้ำ และมีต้นโพธิ์เป็นจุดสังเกต

วัดท่าโพธิ์ ได้เจริญสืบความเป็นวัดอยู่ราว ๑๔๔ ปี ใน พ.ศ. ๒๑๗๑ รัชสมัยของสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ วัดท่าโพธิ์ถูกทำลายจากการรุกรานของ กองทัพจากนครรัฐยะโฮร์ ในสงครามการรุกรานเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งนั้นวัดท่าโพธิ์ถูกเผาเสียหายจนไม่อาจฟื้นฟูกลับคืนสภาพได้เลย ผู้คนจึงเรียกวัดท่าโพธิ์แห่งนั้นว่า วัดท่าโพธิ์เก่า

ท่าโพธิ์ถึงวัดจะร้าง แต่ก็ยังคงชื่ออยู่ ในฐานะท่าที่ใช้ในการสัญจรไปยังตัวเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นสายน้ำที่เชื่อมต่อไปยังคลองท่าเรียน ที่สามารถพายเรือขึ้นไปยังคลองท่าดี ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวเหนือบนลานสกาได้

ต่อมาในยุคสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงแต่งตั้งให้หลวงสิทธินายเวร ( หนู ) ขึ้นเป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าประเทศราชเสมอด้วยเมืองเชียงใหม่ ทางด้านเจ้าพัฒน์ เชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวงที่หลบหนีลี้ภัยมายังนครศรีธรรมราช ได้สมรสกับ ท่านหญิงนวล ธิดาคนโตของ พระเจ้านครศรีธรรมราช ( หนู ) โดยในยุคประเทศราช พระเจ้านครศรีธรรมราช ( หนู ) ได้แต่งตั้งเจ้าพัฒน์ขึ้นเป็นอุปราช เรียกกันว่า อุปราชพัฒน์ ซึ่งอุปราชพัฒน์ได้ทำการตั้งวังขึ้นในพื้นที่ทางตอนเหนือของท่าโพธิ์ ต่อมาเมื่อถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครศรีธรรมราชถูกลดฐานะเป็นเมืองในระดับเจ้าพระยามหานครตามเดิม และทางราชสำนัก ได้แต่งตั้งให้ เจ้าพัฒน์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถัดจาก พระเจ้านครศรีธรรมราช ( หนู )

เมื่อเจ้าพัฒน์ได้รับการโปรดเกล้า ฯ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแล้ว จำต้องสละวังที่อยู่เดิมเพื่อไปอาศัยยังวังเจ้าเมือง ( ปัจจุบันวังเจ้าเมือง อยู่ในบริเวณศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ) เจ้าพระยานคร ฯ ( พัฒน์ ) จึงได้ถวายพื้นที่วังของตนเพื่อสร้างเป็นวัด เรียกกันว่า “ วัดท่าโพธิ์ใหม่ ” ซึ่งวัดท่าโพธิ์แห่งนี้ เป็นหนึ่งในวัดที่อุปถัมภ์โดย สกุล ณ นคร เจ้าพระยานคร ฯ ( พัฒน์ ) ได้ทำการสร้างวัดท่าโพธิ์แห่งนี้ตลอดการดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง จนกระทั่งท่านถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๓๕๘ เจ้าพระยานคร ฯ ( น้อย ) เจ้าเมืองนครท่านถัดมา จึงได้นำอัฐฐิของเจ้าพระยานคร ฯ ( พัฒน์ ) มาบรรจุในเจดีย์ที่อยู่ด้านหลังพระประธาน เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงผู้สร้างวัด
วัดท่าโพธิ์ เท่าที่มีการสืบทราบ มีรายชื่ออดีตเจ้าอาวาสดังต่อไปนี้

๑. พระครูกาเดิม ( ปุ่น ) ( ยุครัชกาลที่ ๓ )
๒. พระอธิการบุญจันทร์ ( ยุครัชกาลที่ ๓ )
๓. พระอธิการศรีปาน ( ยุครัชกาลที่ ๔ )
๔. พระอธิการหนู ( ยุครัชกาลที่ ๔ )
๕. พระอธิการศรีไหม ( ยุครัชกาลที่ ๕ )

หลังการมรณภาพของพระอธิการศรีไหม วัดท่าโพธิ์ได้รกร้างลงถึง ๒ ปี เพราะขาดกำลังคนที่จะเข้าไปดูแล จากที่ ครูน้อม อุปรมัย ได้บรรยายในงานเขียนของท่าน วัดท่าโพธิ์ได้ร้างจนสภาพเปลี่ยนเป็นป่าละเมา มีต้นไม้และวัชพืชงอกเต็มพื้นที่ จนท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ( หนูพร้อม ณ นคร ) ได้นิมนต์พระครูการาม ( จู ) เจ้าอาวาสวัดมเหยงค์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ ซึ่งพระครูการาม ( จู ) ได้พัฒนาบูรณะวัดท่าโพธิ์ จนกลับฟื้นคืนสภาพความเป็นวัด

ภายหลังการมรณภาพของพระครูการาม ( จู ) เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์รูปต่อมา คือ พระมหาม่วง สิริรัตน์ ( ต่อมาดำรงสมณศักดิ์เป็นพระรัตนธัชมุนี หรือที่รู้จักกันว่า ท่านเจ้าคุณวัดท่าโพธิ์ บ้างก็เรียกท่านเจ้าคุณม่วง ) เนื่องจากท่านพระรัตนธัชมุนี ( พระมหาม่วง สิริรัตน์ ) เป็นพระผู้พัฒนาการศึกษา ดำเนินการ ศึกษาทั้งทางโลก และ ทางธรรม โดยท่านได้ดำเนินการสร้างโรงเรียน สถานศึกษาสำหรับกุลบุตร กุลธิดาทั่วภาคใต้ จึงทำให้วัดท่าโพธิ์ ถูกยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นวรวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งเป็นปลายยุคสมัยรัชกาลที่ ๖

วัดท่าโพธิ์วรวิหาร มีความเป็นมาตั้งแต่ยุคสมัยเป็นวัดราษฎร์ ฯ ผ่านการรกร้าง ผ่านการปรักหักพัง มีทั้งเจริญรุ่งเรือง และ ร่วงโรยไปตามกฎวัฎสงสารในโลก เป็นโชคดีที่ในยุคหลัง วัดท่าโพธิ์วรวิหารได้รับการทำนุบำรุงอยู่ตลอด จึงทำให้วัดมีความเจริญสืบต่อกันมา นอกจากนี้ วัดท่าโพธิ์วรวิหาร ยังเป็นวัดเพื่อการศึกษา แหล่งชุมนุมของผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ – รัชกาลที่ ๖ ในยุคสมัยที่ท่านพระรัตนธัชุมนี ( เจ้าคุณม่วง ) เป็นเจ้าอาวาส จึงมีคำเปรียบเปรยในยุคนั้นเกี่ยวกับวัดท่าโพธิ์เอาไว้ว่า “ อยากเป็นนายให้อยู่วัดท่าโพธิ์ อยากกินขนมโคให้อยู่วัดวัง อยากเป็นช่างให้อยู่วัดจันทร์ ” สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรือง และแหล่งการศึกษาที่สำคัญของวัดท่าโพธิ์วรวิหารในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

ที่มา: https://watsritawee.org/article-133/

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย •



พระอุโบสถสร้างในสมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร)



พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์ใหญ่ สร้างคู่กับพระอุโบสถ



อาคารที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน คือ ตึกรัตนธัชมุนี เป็นตึกก่อด้วยอิฐถือปูน พระรัตนธัชมุนี (ม่วง) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกศาจารย์ ได้ใช้ช่างก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ด้วยทุนส่วนตัว สร้างตามแบบจากรูปถ่ายบ้านพักของผู้สำเร็จราชการรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อครั้งพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) ไปตรวจการศึกษามณฑลภูเก็ต พระธรรมปาลจารย์ (เอี่ยม) เจ้าคณะมณฑลภูเก็ตได้นิมนต์พระรัตนธัชมุนีไปเยี่ยมคณะสงฆ์ไทยในรัฐปีนัง พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตเป็นผู้จัดเรือพาหนะและอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปและกลับ พระรัตนธัชมุนี (ม่วง) พอใจในแบบบ้านพักผู้สำเร็จราชการรัฐปีนังเป็นอันมากจึงได้ให้ช่างถ่ายภาพไว้แล้วนำมาก่อสร้างขึ้นในวัดท่าโพธิ์



พระพุทธธรรมจักร องค์ที่ ๕๖



หอระฆัง



ซุ้มประตูทางเข้าวัด




11,202







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย