วัดศรีอุบลรัตนาราม เดิมชื่อ วัดศรีทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง คือ พระแก้วบุษราคัม
วัดตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี บนถนนอุปราช วัดนี้มีพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ประวัติวัด
วัดศรีอุบลรัตนารามสร้างเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2398 ตรงกับ ร.ศ. 74 เป็นปีที่ 5 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี โดยเป็นวัดธรรมยุตแห่งที่ 2 ของภาคอีสาน ต่อจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร สถานที่ตั้งวัด เดิมเป็นสวนของเจ้าอุปฮาดโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) มีศรัทธาบริจาคที่ดินประมาณ 25 ไร่ สำหรับสร้างวัดของสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย โดยระหว่างการถวายที่ดินต่อหน้าพระเถระ ยกให้เป็นสมบัติในศาสนาพุทธเพื่อเป็นที่ตั้งวัด ในยามราตรีของวันนั้น เกิดนิมิตประหลาดขึ้น คือมีแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นเป็นสีเหลืองทองภายในบริเวณสวนนั้น จึงได้ถือนิมิตมงคลนี้ ตั้งชื่อวัดว่า "วัดศรีทอง"
ฝ่ายคณะสงฆ์มีท่านเทวธัมมี (ม้าว) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เริ่มก่อสร้างกุฏิ วิหาร ศาลการเปรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2398 ตามประวัติท่านเทวธัมมี ได้ไปรับการศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เป็นสามเณร และได้เป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งผนวช จึงได้ถือลัทธิธรรมยุติกนิกายสืบสายมาตั้งคณะธรรมยุติกนิกายที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในภาคอีสาน โดยมีท่านพันธุโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ดังนั้น ท่านเทวธัมมี จึงถือว่าเป็นพระเถระที่มีศักดิ์ใหญ่ เป็นที่เคารพยำเกรงของบรรดาเหล่าพระภิกษุสามเณร ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนทั้งหลายในสมัยนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาประกอบพิธีฉลองสมโภชฝังลูกนิมิตร และยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม จึงได้ทูลเกล้าถวายพระอุโบสถหลังนี้ ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่อจากวัดศรีทองเป็น "วัดศรีอุบลรัตนาราม" ตามนามขององค์อุปถัมภ์
วัดศรีอุบลรัตนาราม เคยเป็นที่บรรพชาอุปสมบทของพระเถระผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายคันธุระและวิปัสนาธุระหลายรูป มีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท), สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส), พระอาจารย์ทา โชติปาโล, พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล, พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต, พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ), สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต), พระพรหมมุนี (บู่ สุจิณฺโณ) เป็นต้น
วัดแห่งนี้ยังเคยใช้เป็นสถานที่จัดทำน้ำอภิเษกของมณฑลอุบลและจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2454 ครั้งที่ 2 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2468 และครั้งที่ 3 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2493
กิจกรรม งานสรงน้ำพระแก้วบุษราคัม (ช่วงวันมหาสงกรานต์)
พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม
พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปบูชาหน้าตักกว้างประมาณ 3 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว แกะด้วยบุษราคัมทึบทั้งแท่ง พระเศียรหุ้มด้วยพระศกสีทองทำเป็นเม็ด ๆ มีพระสังวาลประดับที่องค์พระ มีฐานหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลเชียงแสน ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของนครเชียงรุ้ง พระเจ้าเชียงรุ้งทรงโปรดให้ช่างหลวงแกะสลักไว้เคารพบูชา จนปี พ.ศ. 2180 ฮ่อยกมาตีเชียงรุ้ง เจ้านายเชียงรุ้งอพยพมาอาศัยอยู่กับเจ้าสุริยวงศาธรรมาธิราช พระเจ้าล้านช้าง ต่อมาเจ้าปางคำเสกสมรสกับเจ้านางสุพรรณ พระราชนัดดาแห่งเชียงรุ้ง สร้างเมืองใหม่ที่ตำบลหนองบัวลุ่มภู ในนามเมืองใหม่ว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน เจ้าอินทกุมาร เชษฐาได้มอบพระแก้วบุษราคัมเป็นพระประจำตระกูลเมือง เมื่อพระวอพระตาอพยพจากหนองบัวลุ่มภูมาตั้งเมืองอุบลราชธานี ก็ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาด้วย โดยนำมาประดิษฐานที่วัดหลวง ในสมัยเจ้าพระมหาเทวานุเคราะห์ เจ้าพระอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมไปซ่อนที่บ้านยางวังกางฮุง เนื่องจากเกรงว่าเจ้าพรหมจะนำพระแก้วบุษราคัมไปถวายแก่เจ้านายกรุงเทพฯ จนเมื่อเจ้าพระอุปฮาดโทสร้างวัดศรีทองหรือวัดศรีอุบลรัตนาราม และนิมนต์พระเทวธัมมี (ม้าว) มาเป็นเจ้าอาวาส และอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมจากบ้านยางวังกางฮุงมาถวายแด่พระเทวธัมมี (ม้าว) และประดิษฐานไว้ที่วัดศรีทองเพื่อเป็นมิ่งขวัญเมืองอุบลราชธานีต่อไป
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ชาวอุบลราชธานีจะอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมลงมาจากพระอุโบสถแล้วจัดขบวนแห่พระแก้วบุษราคัมรอบเมืองอุบลราชธานี เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการและสรงน้ำองค์พระแก้วบุษราคัมกันอย่างถ้วนหน้า ซึ่งงานจะจัดไปจนถึงวันที่ 17 เมษายน ของทุกปี และเป็นการเปิดงานประเพณีสงกรานต์ของชาวอุบลราชธานีด้วย
พระอุโบสถ วัดศรีอุบลรัตนาราม
พระอุโบสถของวัดศรีอุบลรัตนาราม ได้ถอดแบบจำลองมาจาดพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ พระอุโบสถหลังนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อทดแทนพระอุโบสถหลังเดิมที่มีอายุกว่า 100 ปี ที่มีสภาพเก่าแก่และทรุดโทรมมากไม่สามารถซ่อมแซมได้ เริ่มทีเดียวจึงคิดจะสร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัมเท่านั้น แต่เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ จึงได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ล่วงหน้าไปก่อน และเริ่มสะสมงบประมาณการก่อสร้างจากเงินบริจาคที่ได้จากการจัดงานนมัสการสรงน้ำพระแก้วบุษราคัมที่ทางวัดได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและเงินบริจาคจากกิจการต่าง ๆ
พระประธานในพระอุโบสถ
พระวิหารพระพุทธประทานพร วัดศรีอุบลรัตนาราม
หอระฆัง วัดศรีอุบลรัตนาราม
ซุ้มประตูวัดศรีอุบลรัตนาราม ที่สร้างอุทิศให้พระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) ต้นตระกูล ณ อุบล ผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด
พิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม
ในวัดศรีอุบลรัตนาราม ที่ด้านข้างของพระอุโบสถมีศาลาพิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม เป็นอาคารไม้เนื้อแข็ง 2 ชั้นขนาดใหญ่ เดิมทีเป็นศาลาหอแจก ซึ่งหมายถึงศาลาการเปรียญ สถานที่ในการทำบุญทำทานของคนในสมัยก่อน สร้างขึ้นในสมัยพระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) เป็นเจ้าอาวาส ในสมัยพระครูวิจิตรธรรมภาณี เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการรื้อถอนและมีการประกอบใหม่ด้วยเหตุผลในการจัดวางตำแหน่งอาคารต่าง ๆ ภายในวัด
พิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม