วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดประจำรัชกาลที่ ๒) กรุงเทพมหานคร





วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดประจำรัชกาลที่ ๒) กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวง ชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2280
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2352


วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่ อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัด นี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลาง พระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็น ราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้าน คู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จ พระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ ได้ในปี พ.ศ. ๒๓๒๒โดยโปรดให้อัญเชิญ พระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐาน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มี พระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร. ๒) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วัน(ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัด พระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรด พระราชทานคืนไปนครเวียงจันทร์) แต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เสียก่อน

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้วโปรดพระราชทาน พระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม"

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๓๗ วา ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์ สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของ พระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนาม วัดเสียใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมด โดยได้โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองในการบูรณะ และโปรดเกล้าฯให้นำเงิน ที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่า ด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนทวีธาภิเศก" นอกจากนั้นยังได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์ องค์ใหญ่ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใหญ่รวม ๓ งานพร้อมกันเป็นเวลา ๙ วัน คือ งานฉลองพระไชยนวรัฐ งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ งานฉลองพระปรางค์

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์ เป็นการใหญ่มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ใน วันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๐ และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้


- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ , พระปรางค์ใหญ่สุดในประเทศไทย •


- แสงแรก ณ วัดอรุณราชวราราม -


{ พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร }
เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทย ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิมที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี

พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร เป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลก พระปรางค์วัดอรุณยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด


{ สถาปัตยกรรม }
พระปรางค์วัดอรุณฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง


กลุ่มพระปรางค์ประกอบด้วยของปรางค์ประธานซึ่งมีความสูง 67 เมตร และปรางค์ทิศจำนวน 4 ปรางค์ เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์


{ ยักษ์วัดแจ้ง }
ยักษ์วัดแจ้ง หรือ ยักษ์ยืนวัดอรุณ เป็นประติมากรรมโบราณอันล้ำค่าของวัดอรุณราชวราราม ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีทั้งพี่น้องชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีด้วยกัน ๒ ตน มีสถานที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก ลักษณะเป็นรูปยักษ์ยืน มือทั้งสองกุมกระบอง อยู่บนแท่นสูงประมาณ ๓ วา


ยักษ์ที่ยืนอยู่ทางด้านทิศเหนือ ตัวสีขาวคือ สหัสเดชะ ส่วนยักษ์ที่ยืนอยู่ทางด้านทิศใต้ ตัวสีเขียวคือ ทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูนประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลาย มีลักษณะสวยงามวิจิตรตระการตา ด้านหน้ายักษ์ทั้ง ๒ ตน มีสิงโตโบราณแกะสลักจากหิน ตั้งอยู่ด้านละ ๓ ตัว
ตามประวัติของการสร้างยักษ์วัดอรุณ แต่เดิมสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยทรงโปรดให้ หลวงเทพกัน ช่างปั้นฝีมือดีเป็นผู้ปั้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ ในสมัยพระเดชพระคุณ พระพิมลธรรม นาค เป็นเจ้าอาวาส ได้เกิดฝนตกหนัก มีอสุนีบาตตกถูกยักษ์หน้าพระอุโบสถด้านทิศเหนือ คือ สหัสเดชะ พังลงมา
จึงได้สร้างขึ้นใหม่เป็นยักษ์คู่ที่มีความสวยสง่างามดั่งที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ยักษ์วัดแจ้ง หรือยักษ์ยืนวัดอรุณราชวราราม ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของวัดอรุณราชวราราม ที่มีตำนานเล่าขานถึงปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ของยักษ์โบราณสองตนนี้มากมายหลายเรื่องเล่า ตั้งแค่ครั้งอดีตกาลจนมาถึงยุคปัจจุบัน

ยักษ์โบราณคู่นี้เป็นที่เคารพบูชาของลูกหลานชาววัดอรุณและละแวกใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง ที่มักจะพากันแวะเวียนมากราบไหว้ขอพร โดยเฉพาะเรื่องความรักและชีวิตคู่ให้สมหวัง หรือบ้างก็มาขอพรให้ชีวิตได้พบแต่ความสุขความเจริญ กันอยู่เป็นประจำ




ที่มา : www.watarun.org

12,718







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย