วัดบูรพาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันมีพระธรรมวชิรญาณโกศล (เยื้อน ขนฺติพโล) เป็นเจ้าอาวาส
วัดบูรพารามตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2400 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2480 สร้างโดยพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก ร่วมมือกันสร้างกับชาวบ้านเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300–2330 ตั้งชื่อวัดว่า วัดบูรพ์ แรกเริ่มสังกัดมหานิกาย แต่ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2476 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้อนุมัติให้วัดบูรพ์เป็นวัดในสังกัดคณะธรรมยุต แล้วนิมนต์พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบูรพารามได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520
ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของสุรินทร์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก ปั้นด้วยเนื้อดินเผาอัดแน่น มีพุทธลักษณะศิลปะชาวกูย(ส่วย) หรือในวิชาการเรียกรวมๆว่าศิลปะแบบลาวล้านช้าง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพาราม พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในมณฑปจัตุรมุข
• พระราชวุฒาจารย์ หรือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระราชาคณะชั้นราช, พระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระ, อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต) ชาวสุรินทร์ ศิษยานุศิษย์ในพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
• อุปสมบท ณ วัดจุมพลสุทธาวาส ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2453 โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อแรกบวช หลวงปู่ได้พากเพียรศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด มีความวิริยะ อุตสาหะอย่างแรงกล้า จนล่วงเข้าพรรษาที่ 6 หลวงปู่จึงหันมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรก ของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ เนื่องจากวัดสุปัฏนาราม เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายในพ.ศ. 2461 ณ วัดสุปัฏนารามโดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์
พรรษาต่อมาหลวงปู่ได้มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว จากพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่าง ๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ต่อมา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปาโมกข์ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาขอให้หลวงปู่กลับจังหวัดสุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม พ.ศ. 2476 ให้เป็นวัดธรรมยุตแห่งแรกของจังหวัดสุรินทร์ หลวงปู่จึงจำต้องระงับกิจธุดงค์และเริ่มงานบูรณะตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงปู่ได้อุทิศชีวิต เพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากสาธุชนทั้งหลาย ว่าเป็นอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง
• หลวงปู่ท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2526 เวลา 04.13 น. รวมสิริอายุได้ 96 ปี 26 วัน พรรษาที่ 74