วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดสระเกศ) อยู่ริมคลองมหานาคและคลองรอบกรุง ใกล้สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เป็นวัดโบราญในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนานเมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๒๕
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ที่สำคัญคือ พระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ซึ่งทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระเจดีย์บนยอดพระบรมบรรพตเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมาแต่ครั้งนั้น
ในส่วนของพระอาราม มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ๆ เช่น พระอุโบสถซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนในสมัย รัชกาลที่ ๓ แต่ชำรุดจึงมีการลบเขียนใหม่ใน รัชกาลที่ ๗ เป็นภาพทศชาติ ภาพมารผจญและภาพไตรภูมิ รอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาตั้งประจำทั้ง ๘ ทิศ ซุ้มเสมาที่วัดสระเกศเป็นทรงกูบช้างหรือซุ้มหน้านางประดับกระเบื้องงดงามถือเป็นแบบอย่างทางศิลปะ
นอกจากนี้ยังมีหอไตร สมัยรัชกาลที่ ๑ บูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓ เดิมอยู่กลางสระน้ำ สร้างด้วยไม้เฉลียงรอบ บานประตูหน้าต่างแกะสลักอย่างสวยงาม
วัดสระเกศ หรือ วัดภูเขาทอง มีทางเข้าวัดที่สะดวก คือไปตามถนนจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งทอดผ่านด้านหน้าวัด มีซุ้มประตูใหญ่ติดถนน รถส่วนบุคคลและรถตู้สามารถผ่านเข้าออกได้สบายแต่ไม่สะดวกสำหรับรถบัส ต้องจอดให้ผู้โดยสารลงที่หน้าซุ้มประตูวัด แล้วเดินเข้าไปตามถนนเพียง ๑๐๐ เมตร ก็ถึงซุ้มประตูกำแพงแก้ว ตรงด้านข้าวมีป้ายชี้ทางเข้าสู่พระอุโบสถ วัดสระเกศเปิดบริการให้นักท่องเทียวต่างประเทศเข้าชมฟรีทุกวันระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ น.-๑๖.๐๐ น.
พระอุโบสถ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระปั้นปิดทองปางสมาธิที่ใหญ่โต พร้อมด้วยความสมพุทธลักษณองค์หนึ่งในกรุงเทพมหานคร . ที่ฝาผนังด้านใน ระหว่างซุ้มหน้าต่างเป็นภาพทศชาติส่วนด้านบนเป็นภาพเทวดาและท้าวจตุโลกบาล ส่วนด้านหน้าเป็นภาพมารวิชัย ส่วนด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิคือ. ภาพสวรรค์ มนุษย์ และนรก
พระวิหาร สวยงามสูงเด่นเป็นสง่า มีหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันทั้งสองด้านประดับด้วยกระจกสีวิจิตรงดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ ๒ องค์ด้วยกัน คือพระอัฏฐารส และหลวงพ่อดุสิต
พระเจดีย์บนยอดพระบรมบรรพตเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
หอไตร เรียกเต็มว่า “หอพระไตรปิฎก” ซึ่งเป็นที่เก็บคัมภีร์พระพุทธศาสนา นับตั้งแต่พระไตรปิฎกอรรถกถา ฎีกา และสัททาวิเศษ ตลอดจนอุปกรณ์ ต่าง ๆ รวมเรียกว่า ”พระธรรม” เป็นหอสมุดประจำวัด ตั้งอยู่ที่คณะ ๑๐ ด้านทิศใต้ของพระบรมบรรพตภูเขาทอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้สร้างขึ้น และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดให้ทำการบูรณะ