วัดพระบรมธาตุ วรวิหาร ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ 6 ตำบลชัยนาท อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท
วัดพระบรมธาตุ วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายในวัดนี้มีเจดีย์พระบรมธาตุรูปแบบสถาปัตยกรรมอู่ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ไม่เพียงแต่เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายในวัดยังเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างน่าสนใจที่ให้ความรู้สึกราวกับนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปสู่ในยุคกาลก่อน เช่น เจดีย์พระบรมธาตุตามรูปแบบสถาปัตยกรรมอู่ทองภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดชัยนาท และจังหวัดใกล้เคียง โดยในวันเพ็ญเดือน 6 ของทุก ๆ ปีจะมีงานเทศกาลสมโภชพระบรมธาตุที่คลาคลั่งไปด้วยผู้คนทั่วสารทิศที่พากันมาเที่ยวชม น่าชม
{ เจดีย์พระบรมธาตุ }
ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งต่อมุมขึ้นไปรองรับ ใต้องค์ระฆังมีซุ้มจระนำเล็ก ๆ 4 ด้าน ภายในประดิษฐานพระปางนาคปรก 4 ทิศ หน้าบันของซุ้มจระนำมีสองชั้นซ้อนกัน มีปูนปั้นประดับเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ เหนือฐานบัวหงาย 4 กลับอยู่ตรงกลาง หน้าตักกว้าง 23 ซม. สูงจากฐานจรดพระเศียร 31ซม. ทรงจีวรแบบห่มตอง หรือห่มเฉียง ผ้าสังฆาฏิพาดลงมาเกือบถึงฝ่าพระบาท ลักษณะของพระเศียรและพระพักตร์มีเค้าของศิลปะลพบุรี หรืออู่ทองรุ่นแรก ระหว่างซุ่มจระนำมีผนังทำเป็นมุมเหลี่ยมขึ้นไปรองรับองค์ระฆังและเหนือมุมระหว่างหน้าบันของซุ้มจระนำ ทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอีกหลายองค์เรียงรายอยู่โดยรอบ จากนั้นถึงองค์ระฆังทรงกลมรองรับ ปลีย่อส่วนบนสุดมีลักษณะเป็นโลกประดับ ทำนองเป็นฉัตรประดับอีกต่อหนึ่ง จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอู่ทอง (อยุธยาตอนต้น) ที่นิยมใช้เจดีย์เล็ก ๆ ประดับ
{ พระวิหาร }
สันนิฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมเจดีย์พระบรมธาตุ แต่ยังคงมีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ภายหลัง ปัจจุบันพระวิหารดังกล่าวเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
{ พระประธานในพระวิหาร }
{ พระอุโบสถ }
อยู่ทางด้านใต้ติดกับพระวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับพระวิหาร มีร่องรอยการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง มีพระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปแบบสรรคบุรี ลงรักปิดทองขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปแบบสรรคบุรี รอบนอกพระอุโบสถมีใบเสมาสลักด้วยหินทรายเป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา แผ่นศิลาจารึก บันทึกข้อความของการฉลองการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ ปัจจุบันแผ่นศิลาจารึกประดิษฐานอยู่ที่ฝาผนังวิหารด้านหลังติดกับองค์พระธาตุ
{ พระประธานภายในพระอุโบสถ }
เป็นพระพุทธรูปแบบสรรคบุรี ลงรักปิดทองขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปแบบสรรคบุรี