วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 1255 ตำบลพระธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เขตวิสุงคาม กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร
ปัจจุบัน มีพระเทพสิทธิโสภณ (สุรสีห์ กิตติโสภโณ) เป็นเจ้าอาวาส และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ตั้งวัดประมาณ 18 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา มีอาณาเขต ดังนี้
-ทิศเหนือ จดถนนสาธารณะและที่ดินชาวบ้าน
-ทิศใต้ จดถนนเจริญเมือง
-ทิศตะวันออก จดที่สาธารณะเขตหนองหาร
-ทิศตะวันตก จดถนนเรืองสวัสดิ์
อาคารเสนาสนะประกอบด้วย
-พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2513
-พระวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ.2498
-ศาลาเอนกประสงค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2524
-หอสมุดประชาชน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2487
-กุฏิสงฆ์ 11 หลัง
-อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม
-หอระฆัง
-ศาลารายรอบพระวิหาร
-พระอุโบสถ
-และพระธาตุเชิงชุม
ปูชียวัตถุสำคัญประกอบด้วย พระธาตุเชิงชุม หลวงพ่อพระองค์แสน พระประธานในพระอุโบสถ (พระพุทธชินราชจำลอง) พระอุโบสถหลังเก่าซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดพระธาตุศาสดาราม ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระธาตุ หรือ วัดธาตุ เปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2496 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2506
{ พระธาตุเชิงชุม }
เป็นสถูปก่ออิฐถือปูน รูปแบบขององค์พระธาตุได้รับอิทธิพลจากพระธาตุพนม ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยมสูงประมาณ 25 เมตรเศษ ไม่มีลวดลายประดับ ฐานเจดีย์ก่อเป็นซุ้มประตูยอดทรงปราสาท มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ภายในทึบ ก่อด้วยศิลาแลงมีซุ้มประตูหลอกแบบศิลปะขอม บริเวณกอบประตูทางเข้าอุโมงค์องค์พระธาตุเชิงชุม มีศิลาจารึกภาษาเขมรอักษรขอมโบราณอาุราวพุทธศตวรรษที่ 17 กล่าวถึงการแบ่งเขตการปกครองที่ดินแก่หัวหน้าหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ข้าทาสและสิ่ของต่างๆ ดังมีข้อมูลรายละเอียดปรากฏในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยของศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร พระธาตุเชิงชุม เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ เป็นเอกลักษณ์ของเมืองสกลนคร ดวงตราประจำจังหวัด เป็นรูปองค์พระธาตุประดิษฐานอยู่กลางดวงตราและคำขวัญประจำจังหวัด ว่า พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม ยอดฉัตรขององค์พระธาตุเชิงชุมถูกฟ้าผ่ามาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีสายล่อฟ้า จึงได้มีการบูรณะองค์พระธาตุเรืื่อยมา องค์เดิมจริงนั้นสร้างด้วยหินศิลาแลง ต่อมาได้มีการสร้างองค์พระธาตุครอบองค์เดิม
{ พระวิหาร }
{ หลวงพ่อพระองค์แสน }
ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรุป หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปเชียงแสน ประดิษฐานอยู่บนฐานสูง 1.35 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอดพระเมาลี 3.20 เมตร หน้าตักกว้าง 2.00 เมตร หลวงพ่อพระองค์แสน เดิมมีชื่อว่า พระสุวรรณแสน เพราะสร้างด้วยทองคำหนักได้แสนหนึ่ง นอกจากหลวงพ่อพระองค์แสนองค์เดิมซึ่งประดิษฐานภายในพระวิหารด้านหน้าแล้ว ยังมีหลวงพ่อพระองค์แสนจำลอง สร้างขึ้นเพื่อฉลองพุทธชยันตี มีการบูรณะองค์พ่อพระองค์แสนจากกรมศิลปากร และทำการจดบันทึกไว้ล่าสุดปี พ.ศ. 2505
{ พระอุโบสถหลังเดิมหรือหลังเก่า }
มีลักษณะเป็นสิมแบบโถง โครงการเป็นไม้ก่ออิฐถือปูนหลังคามุงแป้นเกล็ด หันหน้าไปทางทิศใต้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 ครั้งพระธานีเป็นเจ้าเมือง ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวโดยรอบ หน้าบันมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา ดาวประจำยาม มังกร และเถาไม้เลื้อยประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ทั้งที่สร้างด้วยไม้และเป็นปูนปั้น
{ พระอุโบสถ }
{ พระประธานในพระอุโบสถ }
{ พระพุทธรูปในพระอุโบสถเก่า }