วัดตรีทศเทพ พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 167 ถนนประชาธิปไตย แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯพระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2405 ซึ่งเป็นปีสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ผู้ริเริ่มสร้าง ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร พระราชโอรสองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างขึ้นในที่ติดกับวังของพระองค์เอง
แต่การก่อสร้างวัดยังมิทันได้เริ่มดำเนินการใดๆ นอกจากการแผ้วถางที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ (พระเชษฐาร่วมมารดาเดี่ยวกับกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร) รับเป็นแม่กองดำเนินการต่อมา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ทรงริเริ่มการก่อสร้าง โดยโปรดให้ทำการขุดคลองรอบ 4 ด้าน เป็นบริเวณวัด ทำรากฐานพระอุโบสถ รากฐานพระเจดีย์ รากฐานพระวิหาร และก่อกำแพงวัด แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ทรงสิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับการก่อสร้างวัดที่ยังค้างอยู่นั้น มาทรงดำเนินการต่อ ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระยาราชสงครามหรือพระยาเวียงใน เป็นแม่กองงานสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2410
พระอารามที่สร้างขึ้นใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า “วัดตรีทศเทพ” มีความหมายว่า “เทพผู้ชายสามองค์ได้ร่วมกันสร้าง” คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสทั้งสอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้พระครูปลัดจุลานุนายก(คง) พระครูปลัดซ้าย ฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มาครองวัดตรีทศเทพเป็นรูปแรก ในการนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่หอสวดมนต์ เพื่อทรงถวายที่วิสุงคามสีมา และถวายพระอารามแก่พระสงฆ์ด้วย
{ พระอุโบสถ }
เดิมเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม และเมื่อวันเวลาผ่านไปก็ชำรุดทรุดโทรมลง ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. 2529 พระเทพวัชรธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งหมด และได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิม ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2529 และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์
{ พระอุโบสถหลังใหม่ }
มีขนาดกว้าง 19 เมตร ยาว 21 เมตร เป็นอาคารทรงไทยตรีมุข ก่ออิฐถือปูน ประดับหินอ่อนทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพระมหาพิชัยมงกุฎ ในรัชกาลที่ 4 ด้านทิศเหนือ ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. และด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ส.ธ.
{ พระพุทธนวราชบพิตร }
ครั้นพระอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีพระประธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระพุทธนวราชบพิตร ขนาดหน้าตักกว้าง 61.9 นิ้ว สูง 89 นิ้ว พระรัศมี 14 นิ้ว ฐานถึงบัว 19 นิ้ว ส่วนกว้าง 32 นิ้ว เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถหลังใหม่ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานพระพุทธนวราชบพิตร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2530 นับเป็นพระพุทธนวราชบพิตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นขนาดพระประธานองค์เดียวของไทย
{ พระวิหาร }
กว้าง 12 เมตร ยาว 22 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งนี้ พระวิหารหลังนี้ถือเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ที่ยังคงเหลืออยู่
{ วิหารคต }
เป็นวิหารคตรอบพระอุโบสถ ประดับด้วยหินอ่อน พร้อมด้วยซุ้มประตู และซุ้มประจำทิศ
{ พระธาตุเจดีย์ }
เป็นพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา รายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดย่อม 4 องค์ ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ ประดับโมเสกสีทองทั้งองค์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
{ จิตรกรรมฝาผนัง }
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถนั้น เป็นภาพพุทธประวัติ ซึ่งอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) เป็นผู้อำนวยการและออกแบบการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยมีคณะทำงานเป็นผู้เขียน เริ่มตั้งแต่ปี 2533 ที่สำคัญ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนทรัพย์จำนวนห้าล้านบาทถ้วน เพื่อสมทบทุนการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในครั้งนี้ด้วย