วัดราชผาติการาม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร





วัดราชผาติการาม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุติกนิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2379
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2471


วัดราชผาติการาม เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่า วัดส้มเกลี้ยง เดิมตั้งอยู่บ้านญวน หลังโรงเรียนเซ็นท์คาเบรียล ต่อมาได้ร้างลง พวกญวนอพยพที่อยู่บริเวณแถบนั้น ได้รื้อเอาอิฐไปก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ จนแทบไม่เหลือให้เห็นสภาพวัดเลย พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้า ฯ จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สร้างวัดใหม่ เป็นการผาติกรรมแทนวัดส้มเกลี้ยง และได้พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชผาติการาม" อันหมายถึงวัดที่พระราชาทรง ผาติกรรม แลกเปลี่ยนทดแทน หรือทำให้เจริญขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๙ และภายหลังทางราชการ ก็ได้ยกวัดราชผาติการาม ขึ้นทะเบียนเป็น "พระอารามหลวง"

การสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขณะดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นชาญไชยบวรยศ ทรง ปฏิสังขรต่อมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ โปรดให้พระยาราชสงคราม (กร) เป็นแม่งานจัดการย้ายหมู่กุฎีที่ถูกถนนราชวิถี(ซังฮี้) ตัดผ่านไปสร้างไว้ทางด้านเหนือ สร้างกำแพงล้อมรอบให้เป็นเขตวัด การปรับปรุงก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชผาติการาม ได้ดำเนินติดต่อกันมาทุกสมัยของเจ้าอาวาส โดยเฉพาะในสมัยของเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺสารเถร ป.ธ.๙) เป็นเจ้าอาวาส ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นมากมาย จนกล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ นำความเจริญก้าวหน้าและชื่อเสียงเกียรติยศมาสู่วัดราชผาติการาม จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• หลวงพ่อสุก พระประธานในพระอุโบสถ •


{ พระอุโบสถ }
สำหรับพระอุโบสถ เป็นรูปทรงศิลปะแบบจีนผสมญวณ ไม่มีช่อฟ้าใบระกาประดับ เช่นเดียวกับพระอุโบสถวิหารหรือ ศาลาการเปรียญเหมือนวัดต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นหรือปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นวัด บวรนิเวศวิหาร วัดราชโอรสาราม วัดเทพธิดาราม เป็นต้น


ซึ่งเป็นสมัยที่ประเทศไทยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ประเทศจีน ซึ่งนำศิลปะแบบจีนมามีบทบาทปรากฏอยู่ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรง ให้ชาวญวณ กลุ่มนั้น เป็นช่างจัดสร้างพระอุโบสถ ดังนั้นพระอุโบสถวัดราชผาติการาม จึงมีรูปทรง ศิลปะปฏิมากรรมพร้อมด้วยภาพเขียนเพดานพระอุโบสถปรากฏอยู่จนบัดนี้




พระอุโบสถวัดราชผาติการาม ได้รับการซ่อมแซมมาตามกาลสมัยและได้ทำการซ่อมครั้งใหญ่เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ และแล้วเสร็จในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยได้รักษารูปแบบเดิมไว้ทุกประการ พร้อมกันนี้ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ มาบรรจุไว้ ณ หลังพระอุโบสถด้วย ในวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ยกฉัตรขาว ๗ ชั้น ถวายพระประธานในพรอุโบสถ พร้อมด้วยทรงบรรจุพระเครื่อง พิมพ์สมเด็จเทียนคู่เนื้อผงและพิมพ์ต่าง ๆ รวม ๔๒,๐๐๐ องค์ ที่ใต้ฐานพระประธานในพระอุโบสถ และที่พระเจดีย์หลังพระอุโบสถ ที่ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ และได้นำไปบรรจุไว้ตามจังหวัดต่าง ๆ รวม ๙ แห่ง ๆ ละ ๕,๐๐๐ องค์ เสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและกตัญญูกตเวทิตาธรรมแด่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร ป.ธ.๙) และเพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป


{ หลวงพ่อสุก พระประธานในพระอุโบสถ }
ส่วนพระพุทธรูป ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงให้นำมาประดิษฐานไว้ตั้งแต่เริ่มย้าย วัดมาสร้างวัดใหม่นั้น เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบเชียงแสนเวียงจันทร์ ประเทศลาว มีขนาดหน้าตักกว้าง ๖๙ ซม. ส่วนสูง ๑๖๕ ซม. เป็นเนื้อทองสำริด ๓ กษัตริย์ มีเส้นลายเงินฝังอยู่ตามชายสังฆาฏิและจีวร มีพระโอษฐ์สุกเป็นสีนาก จึงได้กล่าวพระนามต่อ ๆ กันมาว่า "หลวงพ่อสุก" ตามคุณลักษณะ ส่วนพระเกศและพระพักตร์ รูปทรงตลอดถึงฐานของพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นแบบเดียวกับหลวง พ่อใส จังหวัดหนองคาย และหลวงพ่อเสริม วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร พระประธานในพระอุโบสถวัดราชผาติการาม (หลวงพ่อสุก) จึงเป็นพระพุทธรูปที่งดงาม เป็นปูชียวัตถุ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาด้วยองค์หนึ่ง


{ พระเจดีย์ }




10,947







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย