วัดอ่างทอง เดิมเป็นวัดราษฎร์เล็ก ๆ 2 วัด คือวัดโพธิ์ทองและวัดโพธิ์เงิน สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาใน พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทางชลมารคได้ทอดพระเนตรเห็นวัดทั้งสองนี้จึงมีพระราชดำริให้รวมเป็นวัดเดียวกัน พระราชทานว่า “วัดอ่างทอง” ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
พุทธสถานที่สำคัญได้แก่ พระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ.2499 - 2500 แทนอุโบสถหลังเดิมที่สร้างตั้งแต่ 2445 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน พระเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมประดับกระจกสี หมู่กุฏิทรงไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธานคู่วัดมาตั้งแต่เดิม และค่อนข้างชำรุดทรุดโทรมใกล้จะหักพังลงมา จึงได้มีการหล่อพระประธานขึ้นใหม่ด้วยโลหะ ลงรักปิดทอง แต่กลับไม่คาดคิด พระพุทธรูปที่เอนเอียงใกล้จะพังกลับมีลักษณะที่ตั้งตรงกับฉัตรเหนือพระเศียรพอดี ก่อเกิดความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็น ประชาชนจึงพากันเลื่อมใสและบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีความแข็งแรงขึ้น ส่วนพระประธานองค์ใหม่ได้นำมาประดิษฐานไว้หน้าองค์เดิม
นอกจากจะมีพระอุโบสถที่งดงามแล้ว ยังมีเจดีย์สีทองอร่ามทรงระฆังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่บริเวณพระอุโบสถ มีหอระฆังคู่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้ากุฏิไม้สักทรงไทยที่สวยงามด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง และอาคารโรงเรียนปริยัติธรรมสโมสร เป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์แบบตะวันตก ทรงปันหยา ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ.2461 โดยพระโพธิวงศาจารย์ (แผ้ว) ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแก้ว หรือ ข้างศาลากลางจังหวัดอ่างทอง
วัดอ่างทองวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแก้ว ข้างศาลากลางจังหวัดอ่างทอง หรือตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลวัดอ่างทอง
{ พระอุโบสถ }
ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ.2499 - 2500 แทนอุโบสถหลังเดิมที่สร้างตั้งแต่ 2445 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
{ พระเจดีย์ }
พระเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมประดับกระจกสี บรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่บริเวณพระอุโบสถ
{ พระประธานในพระอุโบสถ }
สร้างด้วยก่ออิฐถือปูน เป็นพระปางมารวิชัย และเป็นพระประธานคู่กับวัดมาแต่แรก มีลักษณะที่ไม่ถูกสัดส่วน ซึ่งในขณะนั้นเริ่มชำรุดและเอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจนใกล้โค่น แต่ยังไม่มีใครคิดปฏิสังขรณ์ หรือแก้ไขให้คืนดังเดิม ด้วยเห็นว่าเป็นพระที่ปั้นด้วยปูน หากขยับเขยื้อนก็เกรงจะเป็นการซ้ำเติมให้พังเร็วลงอีก ซึ่งดูจะเป็นบาปแก่ผู้กระทำ จึงปล่อยให้เอนอยู่อย่างนั้น และพากันคาดคะเนว่า ในชั่วเวลาอีกไม่เกินหนึ่งปี ก็จะโค่นลงมาเอง
ภายหลังได้ร่วมใจกันหล่อพระประธานขึ้นใหม่ด้วยโลหะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.42 เมตร สูง 2.00 เมตร โดยผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยเมื่อครั้งทรงพระชนม์ชีพอยู่มีขนาดเท่านั้น และหวังว่าถ้าพระองค์เดิมพังแล้ว ก็จะนำองค์ที่หล่อขึ้นใหม่ประดิษฐานแทนการหล่อพระประธานองค์นี้ ครั้งแรกปรากฏว่าตอนพระเศียรไม่ติด ต่างพากันเข้าใจว่าเป็นความบกพร่องของนายช่าง เมื่อการหล่อครั้งแรกไม่สำเร็จ จึงได้กระทำพิธีหล่อขึ้นใหม่ ในการหล่อครั้งหลังนี้ นายช่างได้กระทำพิธีสักการบูชา และบอกกล่าวต่อพระประธานองค์เดิม จึงปรากฏว่าการหล่อครั้งหลังนี้สำเร็จลง แม้จะไม่เรียบร้อย ก็พอจะตบแต่งให้เข้าที่ได้ จึงส่งไปขัดที่บ้านช่างหล่อธนบุรี เมื่อขัดแล้วเสร็จ ก็ได้นำเข้าไปไว้ในพระอุโบสถ เพื่อรอโอกาสให้องค์เดิมพังก็จะได้นำองค์ใหม่ขึ้นประดิษฐานแทน
ต่อมาไม่นาน พระประธานองค์ที่คาดกันว่าจะโค่นพังลงมานั้นแทนที่จะโค่นลงตามความคาดหวัง กลับตั้งตรงขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นเช่นนี้ จึงชวนให้สงสัย คงจะมีใครไปจัดการแก้ไขให้กลับคืนมาเป็นแน่ แต่เมื่อได้ตรวจดูกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็ไม่มีรอยปรากฏที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครเข้าไปแตะต้องเลย ในขณะที่เอนอยู่เดิมนั้นเพราะแท่นได้ชำรุดลงไปแถบหนึ่ง และแถบนั้นก็น่าจะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ส่วนอีกแถบหนึ่ง การรับน้ำหนักก็มีแต่จะน้อยลงแต่แถบดังกล่าวนี้กลับทรุดลงไปเสมอกันอีก จึงทำให้องค์พระประธานตั้งตรงได้ดิ่งกับฉัตรที่เหนือพระเศียรพอดี สร้างความงุนงงแก่ผู้พบเห็นเป็นอันมากต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท่านแสดงอภินิหารให้ปรากฏ ประชาชนจึงพาเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น จนทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นอีก โดยทำแท่นให้แข็งแรงและลงรักปิดทองจนเป็นที่เรียบร้อย สำหรับองค์ที่หล่อขึ้นใหม่นั้นก็ได้นำขึ้นประดิษฐานไว้ตอนหน้าพระองค์เดิมนั่นเอง
{ หมู่กุฏิทรงไทย และหอระฆังคู่อยู่หน้ากุฏิไม้สักทรงไทย }
{ อาคารโรงเรียนปริยัติธรรมสโมสร }
เป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์แบบตะวันตกทรงปั้นหยา ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2461 โดยพระโพธิวงศาจารย์ (แผ้ว)