พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หัวข้อธรรม การปฏิบัติธรรม ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทำเนียบวัดไทย พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
 
หน้าแรก พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า หมวดที่ ๖ พระธรรม พระธรรมทุกข้อตกอยู่ในกลุ่มอริยสัจ ๔

"พระธรรมทุกข้อตกอยู่ในกลุ่มอริยสัจ ๔"

     พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ (อริยสัจ มีความหมายถึง ความจริงอย่างประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้คนเป็นพระอริยะ มี ๔ อย่างคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ดังนั้น คำสอนในทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของอริยสัจทั้ง ๔ แต่ที่ทรงแสดงออกไปพิศดารมากจนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อย่างที่ท่านว่าไว้ เพราะอัธยาศัยของผู้ฟังแตกต่างกันนั้นเอง การที่ท่านสรุปพระธรรมทั้งมวลลงในอริยสัจนั้น หมายความว่า พระธรรมแต่ละข้อที่ทรงแสดงนั้นจะต้องอยู่ในกลุ่มของอริยสัจ ๔ ไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง คือ


๑. กลุ่มทุกขสัจ

     กลุ่มทุกขสัจ ได้แก่กลุ่มที่เป็นปริญญาตัพพธรรม คือธรรมที่ต้องศึกษาให้รู้ เพื่อกำหนดให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เป็นธรรมกลุ่มที่เป็นผลมาจากกิเลส จำต้องศึกษาให้รู้ไว้ในด้านประเภทฐานะ ภาวะ ลักษณะของธรรมเหล่านั้น แต่ไม่อาจที่จะแก้ไขอะไรได้ ธรรมกลุ่มนี้ เช่น

          ผัสสะอันมีอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปทาน นามรูปได้แก่ รูป ๑ นาม ๔ คือ
          รูปขันธ์ กองรูปได้แก่รูป ๒๘ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น ส่วนนาม ๔ ได้แก่
          เวทนาขันธ์ คือกองเวทนา ได้แก่ เวทนาเจตสิก สัญญาขันธ์ คือสัญญาเจตสิก สังขารขันธ์ กองสังขาร ได้แก่ จิต ๘๙ ดวง
          อาหาร ๔ คือ กวฬิงการาหาร อาหารที่กลืนกินเข้าไปทางปากผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ วิญญาณาหาร อาหารคือ วิญญาณ มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือ มโนสัญเจตนา
          อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
          โลกธรรม ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญสุข ทุกข์
          อายตนะ ๘ คือ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส โผฏฐัพพะกับกาย ใจกับอารมณ์ (โผฎฐัพพะ มีความหมายถึง อารมณ์ที่จะพึงพูกต้องด้วยกาย , สิ่งที่ถูกต้องกายเช่น เย็น ร้อน อ่น แข็ง เป็นต้น)
          วิญญาณฐิติ ๗ คือที่ตั้งแห่งวิญญาณอันเกิดขึ้นด้วยการถือปฎิสนธิในกำเนิด ๔ ได้แก่
                    ๑. สัตว์ที่มีร่างกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น มนุษย์ เทวดาบากพวก วินิบาตบางพวก (วินิบาต มีความหมายถึงสัตว์ในนรกหรืออสุรกาย)
                    ๒.สัตว์ที่มีกายต่างกัน มีสัญญาเหมือนกัน ได้แก่ เทพผู้เกิดในชั้นพรหม ด้วยอำนาจปฐมฌาน และสัตว์ที่เกิดในอบายภูมิ ๔
                    ๓. สัตว์ ที่มีกายเหมือนกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พรหมชั้นอาสัสรา (พรหมโลกชั้นที่ ๖ จากที่อยู่ของพรหมซึ่งมีทั้งสิ้น ๑๖ ชั้น)
                    ๔. สัตว์ที่มีกายเหมือนกัน มีสัญญาเหมือนกัน ได้แก่ พรหมชั้น สุภกิณหะ (พรหมโลกชั้นที่ ๙ จากที่อยู่ของรูปพรหม ซึ่งมีทั้งสิ้น ๑๖ ชั้น)
                    ประเภทที่ ๕ ที่ ๖ และ ๗ ได้แก่ ท่านที่เกิดในอรูปภูมิด้วยกำลังแห่งอรูปฌาน และมีชื่อตามฌานข้อนั้น ๆ

          แม้ประเภทแห่งทุกข์ที่ทรงแสดงในอริยสัจ ๔ คือ ชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น ก็อยู่ในกลุ่มของรูปที่จะต้องกำหนดรู้ กล่าวโดยสรุป ธรรมในกลุ่มนี้คือพวกที่เป็น "ธรรมชาติอันเป็นไปตามอำนาจแห่งธรรมดา" ทั้งหลายนั้นเอง


๒.กลุ่มสมุทัยสัจ

     กลุ่มสมุทัยสัจ ที่เรียกว่า ปหาตัพพธรรม คือธรรมที่เรียนให้รู้แล้วควรละ อันได้แก่พวกกิเลสทั้งหลาย ซึ่งมีชื่อเรียกตามอาการของกิเสส เหล่านั้น เช่น

          อัสสมิมานะ ความยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นตัวตน หรือมีตัวตน เป็นต้น

          อวิชชา ๘ คือ ความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ความไม่รู้อดีต ความไม่รู้อนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต และไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท (การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา)

          ตัณหา ๓ คือ "กามตัณหา" ความทะเยอทะยานอยากได้ในวัตถุกามด้วยอำนาจของกิเลสกาม "ภวตัณหา" ความอยากมีอยากเป็นต่าง ๆ ด้วยอำนาจสัสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง คือ ความเห็นว่าอัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป) "วิภวตัณหา" ความทะเยอทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็นจนถึงอยากขาดสูญไปเลยด้วยอำนาจของอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ เช่น เห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้แล้วขาดสูญ) และตัณหาในอายตนะภายนอก ๖ คือ ตัณหาทั้ง ๓ ประการที่เกิดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมมารมณ์ (อารมณ์ทางใจ , สิ่งที่ใจนึกคิด)

          นิวรณ์ คือสิ่งที่กั้นจิตคนไว้มิให้บรรลุความดี ท่านเรียกว่านิวรณ์มี ๕ ประเภทคือ
               ๑. กามฉันทะ คือความรักใคร่ชอบใจในวัตถุกามทั้งหลายมีรูปเป็นต้น
               ๒. พยาบาท คือ ความอาฆาตพยาบาท มุ่งจองล้างจองผลาญต่อคน สัตว์ที่ตนไม่ชอบ
               ๓. ถีนมิทธะ คือการเคลิบเคลิ้ม ง่วงนอน หงอยเหงา คร้านกายคร้านใจ
               ๔.อุทธัจจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านซัดส่ายของใจจนเกิดความรำคาญ
               ๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยไม่มั่นใจ ตัดสินใจในเรื่องอะไรไม่ได้

          โอฆะ กิเลสที่เป็นดุจห้วงน้ำ ห้วงน้ำคือกาม ห้วงน้ำคือภพ ห้วงน้ำคือความเห็นผิด และห้วงน้ำคืออวิชชา บางคราวเรียกว่า คันถะเพราะทำหน้าที่ร้อยรัดจิตเรียกว่า อาสวะ เพราะหมักหมมอยู่ภายในจิต

          อนุสัย คือ กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายในจิต คือกามราคะ (ความกำหนัดในกาม) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ ความที่จิตหวุดหวิดด้วยอำนาจโสทะ) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) มานะ (ความถือตัวถือตน) ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ)และอวิชชา (ความไม่รู้ตามความเป็นจริง)

          มิจฉัตตะ ๘ คือความเห็นผิด ความดำริผิด การพูดผิด การทำงานงานผิด การเลี้ยงชีวิตผิด ความพยายามผิด การตั้งสติผิด ความตั้งใจมั่นผิด

          กิเลสทั้งหลายที่ปรากฏแก่จิต ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ได้แก่อกุศลมูล ๓ ประการคือโลภ โกรธ หลง โดยมีรากใหญ่ของกิเลสอยู่ที่อวิชชากับตัณหา


๓.กลุ่มของนิโรธสัจ

     กลุ่มของนิโรธสัจ ที่เรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม คือ ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ สมาธิปัญญา เช่น

          เจโตวิมุติ คือการหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสด้วยการบำเพ็ญเพียรทางจิตจน บรรลุฌานแล้วเจริญวิปัสสนาต่อ และปัญญาวิมุตติคือ จิตที่หลุดพ้นด้วยการเจริญวิปัสสนอย่างเดียว จนบรรลุอรหัต

          วิมุตติ ๕ คือ ความหลุดพ้นจากอำนาจของกิเสส ๕ ระดับคือ
          ๑. ตทังควิมุตติ คือ หลุดพ้นด้วยองค์นั้น ๆ เช่น เกิดโกรธขึ้นมาห้ามความโกรธไว้ได้
          ๒. วิกขัมภนวิมุตติ คือ หลุดพ้นจากกิเลสด้วยกำลังแห่งฌานที่ได้บรรลุ
          ๓. สมุจเฉทวิมุตติ คือ หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสอย่างเด็ดขาดโดยกิเลสไม่กำเริบอีกต่อไป
          ๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสอย่างสงบราบคาบ
          ๕. นิสสรณวิมุตติ คือ จิตที่หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสด้วยการออกไปคือ นิพพาน

          สามัญญผล คือ ผลแห่งการบวชหรือจากความเป็นสมณะ ๔ ได้แก่โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล

          ธรรมขันธ์ ๕ คือ การทำให้แจ้งในกองแห่งศีล สมาธิ ปัญญา และ วิมุตติ ในกรณีที่เป็นผล

          อภิญญา ๖ คือว่ารู้ยิ่งหรือความรู้พิเศษ อันเกิดจากเหตุมีความสงบจากกิเลส เป็นต้น ได้แก่
          ๑. อิทธิวิธี การแสดงฤทธิ์ ได้ คือความสำเร็จที่เกิดจากจิตสงบบ้างกรรมบ้าง วิชาบ้าง
          ๒.ทิพพโสต หูทิพย์ คือสามารถฟังเสียงเบา หนัก ไกลใกล้ได้ตามความต้องการ
          ๓.เจโตปริยญาณ รู้ความคิด สภาพจิตของคนอื่นได้ว่า ขณะนั้น เขามีความคิดต้องการอะไรเป็นต้น
          ๔.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติต่าง ๆ ย้อนหลังไปในอดีตได้
          ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ คือสามารถมองเห็นภาพที่ปรากฏในที่ต่าง ๆ ได้ตามต้องการ
          ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำอาสวะให้หมดสิ้นไป

          อนุบุพพวิหาร ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ (การดับสัญญาและเวทนา เป็นสมาบัติคือ ภาวะสงบ ประณีตซึ่งพึงเข้าถึง)

          อเสกขธรรม คือ ธรรมที่เป็นของพระอเสขะ ๑๐ ประการ (อเสขะมีความหมายถึง ผู้ไม่ต้องศึกษาเพราะศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล คือ พระอรหันต์) คือ มรรคมีองค์ ๘ ประการ กับสัมมาญาณ (รู้ชอบ ได้แก่ผลญาณ) และสัมมาวิมุตติ (พ้นชอบ ได้แก่อรหัตตผลวิมุตติ) ที่เป็นผลถาวรอยู่ภายในใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย

          ธรรมกลุ่มที่เป็นสักฉิกาตัพธรรมนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปได้แก่ผลในชั้นต่าง ๆที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามหลักธรรมที่ทรงแสดงไว้ แม้องค์ธรรมจะชื่อเหมือนกัน แต่ในกลุ่มนี้ท่านหมายเอาตัวผลเช่นตัวความรู้ที่เกิดจากการเรียน ซึ่งเป็นผลถาวรที่ติดอยู่ในใจคน


๔.กลุ่มทุกขนิดโรธคามินีปฏิปทา

     กลุ่มทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความสงบระงับแห่งทุกข์ ท่านเรียกกลุ่มนี้ว่า ภาเวตัพพธรรม คือ ธรรมที่ต้องลงมือกระทำบำเพ็ญให้บังเกิดขึ้น เช่น

          วิสุทธิหรือปาริสุทธิ ๙ ประการ ได้แก่
             ๑. สีลวิสุทธิ คือความบริสุทธิ์ หมดจดแห่งศีล ตามสมควรแก่ฐานะของบุคคล
             ๒. จิตตวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งจิต คือจิตที่สงบจากนิวรณธรรม (สิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม) ทั้ง ๕ ประการเป็นต้น
             ๓.ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งความเห็นคือ เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริง
             ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความลังเลสงสัย
             ๕.มัคคามัคคญาณทัสสวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณที่ช่วยให้รู้ว่าอะไรเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง
             ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นซึ่งปฏิทาในการปฏิบัติ
             ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นอันเป็นผลแห่งการปฏิบัติ
             ๘. ปัญญาวิสุทธิคือ ความบริสุทธิ์แห่งปัญญาเครื่องรู้
             ๙. วิมุตติวิสุทธิคือ ความบริสุทธิ์แห่งความหลุดพ้นจากเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์


อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ

          ๑. สัมาทิฏทิ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ได้แก่ เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
          ๒. สัมมาสังกัปปะ คือความดำริชอบได้แก่ ดำริในการออกจากกามดำริในการไม่พยาบาท และดำริในการไม่เบียดเบียน ๒ ข้อนี้จัดเป็นปัญญาสิกขา
          ๓. สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ คือเว้นจาการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบและเพ้อเจ้อ
          ๔. สัมมากัมมันตะ คือ การทำงานชอบคือการเว้นจาการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
          ๕. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ คือการละมิจฉาชีพดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาชีพอันถูกต้องตามกฎหมาย ศีลธรรม หน้าที่ฐานะและภาวะของแต่ละบุคคล ๓ ข้อนี้ จัดเป็นสีลสิกขา
          ๖. สัมมาวายาม คือ ความพยายามชอบ ได้แก่ พยามสำรวมระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน พยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้วพยายามทำกุศลให้เกิดขึ้นในสันดาน พยายามรักษากุศลที่เกิดขั้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป
          ๗. สัมมาสติ คือความระลึกชอบ ได้แก่ การระลึกถึงกาย เวทนา จิต ธรรมอันนำไปสู่ความสงบจิต จนเกิดปัญญาเห็นประจักษ์ชัดว่า กายเวทนา จิต ธรรม นี้ก็สักแต่ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา ก็เรียกกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติ ปัฎฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน ธัมมานุปัสสนาสติ ปัฎฐาน
          ๘. สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ ความสงบจิตอันเกิดจาก ผลแห่งสมถกรรมฐานจนบรรลุฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติฌาน ตติฌาน จตุตถฌาน

          เมื่อบุคคลปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการให้บริบูรณ์แล้วจะเกิดฌานคือความรู้ขึ้น เรียกว่า สัมมาญาณ อันเป็นองค์อริยมรรคที่แท้จริง จิตของท่านผู้นั้นก็เข้าถึงสัมมาวิมุตติ คือ หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสและทุกข์โดยชอบ อันเป็นหลักการสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาพระธรรมที่มีชื่ออย่างอื่นอันทรงแสดงไว้โดยพิศดารที่กล่าวกันว่ามีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เมื่อจัดเป็นกลุ่มธรรมแล้ว จะสงเคราะห์เข้าในกลุ่มธรรมทั้ง ๔ ประเภทนี้ได้ทั้งหมด ซึ่งผู้ศึกษาจนเข้าใจแล้วสามารถสงเคราะห์ได้ด้วยตนเอง


<
>

  สารบัญ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า  

ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข
  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์