พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด รัตนฆรเจดีย์ - ราคจริต

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


รัตนฆรเจดีย์ - ราคจริต

รัตนฆรเจดีย์ เจดีย์คือเรือนแก้ว อยู่ทางทิศตะวันตกของรัตนจงกรมเจดีย์ หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงพิจารณา พระอภิธรรมปิฎกสิ้น ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๔ แห่งการเสวยวิมุตติสุข) ดู วิมุตติสุข

รัตนจงกรมเจดีย์ เจดีย์คือที่จงกรมแก้วอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ กับอนิมิสเจดีย์ ณ ที่นี้พระพระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมตลอด ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๓ แห่งการเสวยวิมุตติสุข) ดู
วิมุตติสุข

รัตนตรัย แก้ว ๓ ดวง สิ่งมีค่าและเคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน ๓ อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

รัตนบัลลังก์ บัลลังก์ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้, ที่ประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ

รัศมี แสงสว่าง, แสงที่เห็นกระจายออกเป็นสายๆ, แสงสว่างที่พวยพุ่งออกจากจุดกลาง; เขียนอย่างบาลีเป็น รังสีแต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายที่ต่างกันออกไปบ้าง

รัสสะ สระอันพึงว่าโดยระยะสั้นกึ่งหนึ่งแห่งสระยาว ได้แก่ อ อิ อุ

รากขวัญ ส่วนของร่างกายที่เรียกว่าไหปลาร้า; ตำนานกล่าวว่า ในบรรดาพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายนั้น พระรากขวัญเบื้องขวาขึ้นไปประดิษฐานอยู่ใน จุฬามณีเจดีย์ ณ ดาวดึงสเทวโลก พระรากขวัญเบื้องซ้าย ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ (เจดีย์ที่ฆฏิการพรหมสร้างขึ้นไว้ก่อนแล้ว ให้เป็นที่บรรจุพระภูษาเครื่องทรงในฆราวาส ที่พระโพธิสัตว์สละในคราวเสด็จออกบรรพชา) ณ พรหมโลก

ราคะ ความกำหนัด, ความยินดีในกาม, ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่ในอารมณ์

ราคจริต พื้นนิสัยที่หนักในราคะ เช่น รักสวย รักงาม แก้ด้วยเจริญกายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน (ข้อ ๑ ในจริต ๖)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย