อศุภ - อสังหาริมะ
อศุภ ดู
อสุภ
อโศกมหาราช พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชมพูทวีป และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๖๐ (นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันส่วนมากว่า พ.ศ. ๒๗๐-๓๑๒)
เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษา ทรงยกทัพไปปราบแคว้นกลิงคะที่เป็นชนชาติเข้มแข็งลงได้ ทำให้อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติชาติอินเดียแต่ในการสงครามนั้น มีผู้คนล้มตายและประสบภัยพิบัติมากมาย ทำให้พระองค์สลดพระทัย พอดีได้ทรงสดับคำสอนในพระพุทธศาสนา
ทรงเลื่อมใสได้ทรงเลิกการสงคราม หันมาทำนุบำรุงพระศาสนาและความรุ่งเรืองในทางสงบของประเทศ ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ และการส่งศาสนทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ เช่น พระมหินทเถระไปยังลังกาทวีป และพระโสณะพระอุตตระ มายังสุวรรณภูมิ เป็นต้น ชาวพุทธไทยมักเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
อโศการาม ชื่อวัดสำคัญที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างในกรุงปาฏลีบุตร เป็นที่ทำ สังคายนาครั้งที่ ๓
อสมานาสนิกะ ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนแก่กว่ากันเกิน ๓ พรรษา นั่งอาสนะคือเตียงตั่งสำหรับ ๒ รูป เสมอกันไม่ได้ (แต่นั่งอาสนะยาวด้วยกันได้) เทียบ สมานาสนิกะ
อสังขตะ ธรรมที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง, ธรรมที่ไม่เกิดจากเหตุปัจจัย ได้แก่พระนิพพาน
อสังขตธรรม ธรรมอันมิได้ถูกปรุงแต่งได้แก่ นิพพาน (ข้อ ๒ ในธรรม ๒)
อสังขารปรินิพพายี พระอนาคามี ผู้จะปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรมากนัก (ข้อ ๓ ในอนาคามี
๕)
อสังขาริก ดูที่ สสังขาริก
อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้คลุกคลีด้วยหมู่ (ข้อ ๔ ในกถาวัตถุ ๑๐)
อสังหาริมะ ซึ่งนำเอาไปไม่ได้, เคลื่อนที่ไม่ได้, ของติดที่ ขนเอาไปไม่ได้ เช่นที่ดิน โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ต้นไม้ เรือน เป็นต้น เทียบ สังหาริยะ