ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อสังหาริมทรัพย์ - อสีติมหาสาวก

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อสังหาริมทรัพย์ - อสีติมหาสาวก

อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์เคลื่อนที่ไม่ได้ได้แก่ ที่ดินและทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ เช่น ตึก โรงรถ เป็นต้น, คู่กับ สังหาริมทรัพย์

อสัญญีสัตว์ สัตว์จำพวกไม่มีสัญญาไม่เสวยเวทนา (ข้อ ๕ ในสัตตาวาส ๙)

อสัทธรรม ธรรมของอสัตบุรุษ มีหลายหมวด เช่น อสัทธรรม ๗ คือที่ตรงข้ามกับ สัทธรรม ๗ มีปราศจากศรัทธา ปราศจากหิริ เป็นต้น; ในคำว่า “ทอดกายเพื่อเสพอสัทธรรมก็ดี” หมายถึงเมถุนธรรม คือการร่วมประเวณี

อสาธารณสิกขาบท สิกขาบทที่ไม่ทั่วไป หมายถึงสิกขาบทเฉพาะของภิกษุณี ที่แผกออกไปจากสิกขาบทของภิกษุ เทียบ สาธารณสิกขาบท

อสิตดาบส ดาบสผู้คุ้นเคย และเป็นที่นับถือของศากยราชสกุล อาศัยอยู่ข้างเขาหิมพานต์ ได้ทราบข่าวว่าพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะประสูติใหม่ จึงเข้าไปเยี่ยม ได้เห็นพระราชโอรสนั้นมีลักษณะต้องด้วยตำรับมหาปุริสลักษณะ จึงกราบลงที่พระบาททั้งสองของพระราชโอรสแล้วกล่าวคำทำนายว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกทรงผนวช จักได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสดาเอกในโลก; มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า กาฬเทวิลดาบส

อสีตยานุพยัญชนะ อนุพยัญชนะ ๘๐ ดู อนุพยัญชนะ

อสีติมหาสาวก พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ บางทีเรียกอนุพุทธ ๘๐ องค์ มีรายนามตามลำดับอักษร ดังนี้ (ที่พิมพ์ตัว เอน คือท่านที่เป็น เอตทัคคะด้วย): กังขาเรวต, กัปป, กาฬุทายี, กิมพิล, กุมารกัสสป, กุณฑธาน, คยากัสสป, ควัมปติ, จุนท, จูฬปันถก, ชตุกัณณิ, ติสสเมตเตยย, โตเทยย, ทัพพมัลลบุตร, โธตก, นทีกัสสป, นันท, นันทก, นันทก, นาคิต, นาลก, ปิงคิย, ปิณโฑลภารทวาช, ปิลินทวัจฉ, ปุณณก, ปุณณชิ, ปุณณมันตานีบุตร, ปุณณสุนาปรันต, โปสาล, พากุละ (พักกุละก็เรียก), พาหิย ทารุจีริย, ภคุ, ภัททิย (ศากยะ), ภัททิย, ภัทราวุธ, มหากัจจายน, มหากัปปิน, มหากัสสป, มหาโกฏฐิต, มหานาม, มหาปันถก, มหาโมคคัลลาน, เมฆิย, เมตตคู, โมฆราช, ยส, ยโสช, รัฏฐปาล, ราธ, ราหุล, เรวต, ขทิรวนิย, ลกุณฏกภัททิย, วักกลิ, วังคีส, วัปป, วิมล, สภิย, สาคต, สารีบุตร, สีวลี, สุพาหุ, สุภูติ, เสล, โสณกุฏิกัณณ, โสณโกฬิวิส, โสภิต, เหมก, องคุลิมาล, อชิต, อนุรุทธ, อัญญาโกณฑัญญ, อัสสชิ, อานนท, อุทย, อุทายี, อุบาลี, อุปวาณ, อุปสีว, อุปเสนวังคันตบุตร, อุรุเวลกัสสป




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย