ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อาศรม - อาสวักขยญาณ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อาศรม - อาสวักขยญาณ

อาศรม ที่อยู่ของนักพรต; ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็นฮินดูแล้วได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็นขั้นหรือช่วงระยะ ๔ ขั้น หรือ ๔ ช่วง เรียกว่า อาศรม ๔ กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง ๔ อาศรมตามลำดับ (แต่ในทางปฏิบัติน้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว) คือ
๑. พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์
๒. คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร
๓. วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร
๔. สันยาสี (เขียนเต็มเป็นสันนยาสี) เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่งผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก (ปราชญ์บางท่านว่าพราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น เช่น สันยาสี ตรงกับภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่)

อาสนะ ที่นั่ง, หรือที่สำหรับนั่ง

อาสภิวาจา วาจาแสดงความเป็นผู้องอาจ, วาจาองอาจ คือคำประกาศพระองค์ว่าเป็นเอกในโลก ตามเรื่องว่าพระมหาบุรุษเมื่อประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ย่างพระบาทไป ๗ ก้าวแล้วหยุดยืนตรัสอาสภิวาจาว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส” ดังนี้เป็นต้น แปลว่า เราเป็นอัครบุคคลของโลก ฯลฯ

อาสวะ กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ มี ๓ อย่าง คือ ๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา;

อีกหมวดหนึ่งมี ๔ คือ ๑. กามาสวะ ๒. ภวาสวะ ๓. ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ๔. อวิชชาสวะ;

ในทางพระวินัยและความหมายสามัญ หมายถึงเมรัย เช่น ปุปฺผาสโว น้ำดองดอกไม้, ผลาสโว น้ำดองผลไม้

อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ, ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความตรัสรู้ (เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี วันตรัสรู้) (ข้อ ๓ ในวิชชา ๓, ข้อ ๖ ในอภิญญา ๖, ข้อ ๘ ในวิชชา ๘, ข้อ ๑๐ ในทศพลญาณ)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย