ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อาสัญ - อาหารปริเยฏฐิทุกข์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อาสัญ - อาหารปริเยฏฐิทุกข์

อาสัญ ไม่มีสัญญา, หมดสัญญา; เป็นคำใช้ในภาษาไทย หมายความว่า ความตาย, ตาย

อาสัตย์ ไม่มีสัตย์, ไม่ซื่อตรง, กลับกลอก

อาสันทิ ม้านั่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส นั่งได้คนเดียว (ศัพท์เดิมเรียก อาสันทิก, ส่วนอาสันทิเป็นเตียงหรือเก้าอี้นอน)

อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน, กรรมใกล้ตาย หมายถึงกรรมที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ที่ทำเมื่อจวนตายยังจับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มีครุกกรรม และพหุลกรรม ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ เหมือนโคที่ยัดเยียดกันอยู่ในคอกเมื่อคนเลี้ยงเปิดคอกออก ตัวใดอยู่ใกล้ประตู ตัวนั้นย่อมออกก่อน แม้จะเป็นโคแก่ (ข้อ ๑๑ ในกรรม ๑๒)

อาสา ความหวัง, ความต้องการ; ไทยว่า รับทำโดยเต็มใจ, สมัคร, แสดงตัวขอรับทำการนั้นๆ

อาสาฬหะ เดือน ๘ ทางจันทรคติ

อาสาฬหบูชา การบูชาในเดือน ๘ หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะคำรบครบพระรัตนตรัย

อาสาฬหปุรณมี วันเพ็ญเดือน ๘, วันกลางเดือน ๘, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

อาสาฬหมาส ดู อาสาฬหะ

อาหัจจบาท เตียงที่เขาทำเอาเท้าเสียบเข้าไปในแม่แคร่ ไม่ได้ตรึงสลัก

อาหาร ปัจจัยอันนำมาซึ่งผล, เครื่องค้ำจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตมี ๔ คือ ๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ

อาหารปริเยฏฐิทุกข์ ทุกข์เกี่ยวกับการแสวงอาหาร, ทุกข์ในการหากินได้แก่ อาชีวทุกข์ คือ ทุกข์เนื่องด้วยการเลี้ยงชีวิต




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย