พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อุกกลชนบท - อุชุปฏิปนฺโน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อุกกลชนบท - อุชุปฏิปนฺโน

อุกกลชนบท ชื่อชนบทที่พ่อค้า ๒ คน คือตปุสสะ กับ ภัลลิกะ เดินทางจากมาแล้ว ได้พบพระพุทธเจ้าขณะที่ประทับอยู่
ภายใต้ต้นราชายตนะ ภายหลังตรัสรู้ใหม่ๆ

อุกโกฏนะ การรื้อฟื้น, การฟื้นเรื่อง, ฟื้นคดี

อุกฺขิตฺตโก ผู้อันสงฆ์ยกแล้ว หมายถึงภิกษุผู้ถูกสงฆ์ทำอุกเขปนียกรรมตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว (จนกว่าสงฆ์จะยอมระงับกรรมนั้น)

อุกเขปนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึงวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติหรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย(ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย พูดง่าย ๆ ว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว

อุคคหนิมิต นิมิตติดตา หมายถึงนิมิต (อารมณ์กรรมฐาน) ที่นึกกำหนดจนแม่นใจ หรือที่เพ่งดู จนติดตาติดใจ แม้หลับตาก็เห็น (ข้อ ๒ ในนิมิต ๓)

อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ได้ฉับพลัน แต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง คือ มีปัญญาเฉียบแหลม พูดให้ฟังเพียงหัวข้อก็เข้าใจ (ข้อ ๑ ในบุคคล ๔)

อุจจารธาตุ ในคำว่าโรคอุจจารธาตุ หมายถึงโรคท้องเสีย ท้องเดิน หรือท้องร่วง

อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ เช่นเห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้แล้วขาดสูญ (ข้อ ๒ ในทิฏฐิ ๒)

อุชเชนี ชื่อนครหลวงของแคว้นอวันตี บัดนี้เรียกว่า อุชเชน ดู อวันตี

อุชุปฏิปนฺโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือไม่ลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ไม่อำพราง หรือดำเนินทางตรง คือ มัชฌิมาปฏิปทา (ข้อ ๒ ในสังฆคุณ ๙)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย