พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อุฏฐานสัญญามนสิการ - อุทก

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อุฏฐานสัญญามนสิการ - อุทก

อุฏฐานสัญญามนสิการ ทำในพระทัยถึงความสำคัญในอันที่จะลุกขึ้น, ตั้งใจว่าจะลุกขึ้นอีก

อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพที่สุจริต ในการศึกษาเล่าเรียน และในการทำธุระหน้าที่การงาน รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง หาวิธีจัดการดำเนินการให้ได้ผลดี (ข้อ ๑ ในทิฏฐธัมมิกัตถฯ)

อุณหะ ร้อน, อุ่น

อุณหิส กรอบหน้า, มงกุฎ

อุดรทวาร ประตูด้านเหนือ

อุดรทิศทิศเบื้องซ้าย, ทิศเหนือ ดู อุตตรทิส

อุตกฤษฎ์ อย่างสูง, สูงสุด (พจนานุกรม เขียน อุกฤษฏ์)

อุตตระ ดูที่ โสณะ

อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย หมายถึงมิตร; ดู ทิศหก

อุตตรนิกาย ดู อุตรนิกาย

อุตตรนิคม ชื่อนิคมหนึ่งในโกลิยชนบท

อุตตราวัฏฏ์ เวียนซ้าย, เวียนรอบโดยหันข้างซ้ายให้ คือ เวียนเลี้ยวทางซ้ายย้อนเข็มนาฬิกา (พจนานุกรม เขียน อุตราวัฏฏ์)

อุตตราสงค์ ผ้าห่ม, เป็นผ้าผืนหนึ่งในจำนวน ๓ ผืน ของไตรจีวร ได้แก่ ผืนที่เรียกกันสามัญว่า จีวร (พจนานุกรม เขียน อุตราสงค์)

อุตตริมนุสสธรรม ธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง, ธรรมล้ำมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล, บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษ บ้าง คุณวิเศษ หรือ คุณพิเศษ บ้าง (พจนานุกรม เขียน อุตริมนุสธรรม)

อุตรนิกาย นิกายฝ่ายเหนือ หมายถึงพระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือกันแพร่หลายในประเทศฝ่ายเหนือ มี จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่เรียกตัวเองว่า มหายานใช้ภาษาสันสกฤต

อุตสาหะ ความบากบั่น, ความพยายาม, ความขยัน, ความอดทน

อุตุกาล ชั่วฤดูกาล, ชั่วคราว

อุตุปริณามชา อาพาธา ความเจ็บไข้เกิดแต่ฤดูแปรปรวน, เจ็บป่วยเพราะดินฟ้าอากาศผันแปร

อุทก น้ำ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย