พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด หงายบาตร - หัตถบาส

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


หงายบาตร - หัตถบาส

หงายบาตร การระงับโทษอุบาสกซึ่งเคยปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย สงฆ์ประกาศ คว่ำบาตร ไว้มิให้ภิกษุทั้งหลายคบหาด้วย ต่อมาอุบาสกนั้นรู้สึกโทษตน กลับประพฤติดี สงฆ์จึงประกาศระงับโทษนั้น ให้ภิกษุทั้งหลายคบกับเขาได้อีก เช่น รับบิณฑบาต รับนิมนต์ รับไทยธรรมของเขาได้ เป็นต้น การที่สงฆ์ประกาศระงับการลงโทษนั้น เรียกว่า หงายบาตร

หทัย หัวใจ

หน ทิศ เช่น หนบูร (ทิศตะวันออก)

หฤทัย หัวใจ

หลักกำหนดธรรมวินัย หลักตัดสิน ธรรมวินัย หรือลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ อย่าง คือ
ก. ธรรมเหล่าใดเป็นไป ๑. เพื่อความย้อมใจติด ๒. เพื่อความประกอบทุกข์ ๓. เพื่อความพอกพูนกิเลส ๔. เพื่อความมักมากอยากใหญ่ ๕. เพื่อความไม่สันโดษ ๖. เพื่อความคลุกคลีในหมู่ ๗. เพื่อความเกียจคร้าน ๘. เพื่อความเลี้ยงยาก, ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่าไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์,

ข. ธรรมเหล่าใดเป็นไป ๑. เพื่อความคลายหายติด ๒. เพื่อความไม่ประกอบทุกข์ ๓. เพื่อความไม่พอกพูนกิเลส ๔. เพื่อความมักน้อย ๕. เพื่อความสันโดษ ๖. เพื่อความสงัด ๗. เพื่อการประกอบความเพียร ๘. เพื่อความเลี้ยงง่าย, ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์

หลิททวสนนิคม นิคมหนึ่งอยู่ในโกลิยชนบท

หัตถ์ มือ

หัตถกรรม การทำด้วยฝีมือ, การช่าง

หัตถบาส บ่วงมือ คือที่ใกล้ตัวชั่วคนหนึ่ง (นั่งตัวตรง) เหยียดแขนออกไปจับตัวอีกคนหนึ่งได้ ท่านว่าเท่ากับช่วงสองศอกคืบ (สองศอกกับหนึ่งคืบหรือสองศอกครึ่ง) วัดจากส่วนสุดด้านหลังของผู้เหยียดมือออกไป (เช่นถ้ายืน วัดจากส้นเท้า, ถ้านั่ง วัดจากสุดหลังอวัยวะที่นั่ง) โดยนัยนี้ ท่านว่านั่งห่างกันได้ไม่เกิน ๑ ศอก




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย