ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด หายนะ - เหมกมาณพ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


หายนะ - เหมกมาณพ

หายนะ ความเลื่อม

หิตานุหิต ประโยชน์เกื้อกูลน้อยใหญ่

หิมพานต์ มีหิมะ, ปกคลุมด้วยหิมะ, ชื่อภูเขาใหญ่ที่อยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย บัดนี้เรียกภูเขาหิมาลัย, ป่าที่อยู่รอบบริเวณภูเขานี้ ก็เรียกกันว่าป่าหิมพานต์, หิมวันต์ ก็เรียก

หิมวันต์ ดู หิมพานต์

หิรัญญวดี แม่น้ำสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าเสด็จข้าม เมื่อเสด็จไปเมืองกุสินาราในวันที่จะปรินิพพาน สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน อยู่ริมฝั่งแม่น้ำนี้, ปัจจุบันเรียกแม่น้ำคัณฑักน้อย (Little Gandak) อยู่ห่างจากแม่น้ำคัณฑักใหญ่ไปทางตะวันตกประมาณ ๑๓ กิโลเมตร และไหลลงไปบรรจบแม่น้ำสรภู ซึ่งปัจจุบันเรียก Gogra

หิริ ความละอายแก่ใจ คือละอายต่อความชั่ว (ข้อ ๑ ในธรรมคุ้มครองโลก ๒, ข้อ ๓ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๒ ในสัทธรรม ๗)

หีนยาน ยานเลว, ยานที่ด้อย, เป็นคำที่พวกอุตรนิกาย (พุทธศาสนาฝ่ายเหนือ) เรียกทักษิณนิกาย (พุทธศาสนาฝ่ายใต้อย่างที่นับถือกันในไทย พม่า ลังกา เป็นต้น) ปัจจุบันนิยมเรียกว่า เถรวาท

เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องต่ำ หมายถึงบ่าวคือคนรับใช้หรือคนงาน ดู ทิศหก

เหตุ สิ่งที่ให้เกิดผล, เค้ามูล, เรื่องราว, สิ่งที่ก่อเรื่อง

เหตุผลสนธิ หัวเงื่อนระหว่างเหตุในอดีตกับผลในปัจจุบัน หรือหัวเงื่อนระหว่างเหตุในปัจจุบันกับผลในอนาคตในวงจรปฏิจจสมุปบาท (เหตุในอดีตคืออวิชชาและสังขาร, ผลในปัจจุบันคือวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา, เหตุในปัจจุบัน คือตัณหา อุปาทาน ภพ, ผลในอนาคต คือชาติ ชรามรณะ)

เห็นชอบ ดู สัมมาทิฏฐิ

เหมกมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย