พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด คณญัตติกรรม - คณาจารย์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


คณญัตติกรรม - คณาจารย์

คณญัตติกรรม การประกาศให้สงฆ์ทราบแทนคณะคือพวกฝ่ายตน ได้แก่การที่ภิกษุรูปหนึ่งในนามแห่งภิกษุฝ่ายหนึ่งสวดประกาศขออนุมัติเป็นผู้แสดงแทนซึ่งอาบัติของฝ่ายตนและของตนเองด้วยติณวัตถารกวิธี (อีกฝ่ายหนึ่งก็พึงทำเหมือนกันอย่างนั้น) ; เป็นขั้นตอนหนึ่งแห่งการระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย

คณปูรกะ ภิกษุผู้เป็นที่ครบจำนวนในคณะนั้นๆ เช่น สังฆกรรมที่ต้องมีภิกษุ ๔ รูป หรือยิ่งขึ้นไปเป็นผู้ทำ ยังขาดอยู่เพียงจำนวนใดจำนวนหนึ่ง มีภิกษุอื่นมาสมทบ ทำให้ครอบองค์สงฆ์ในสังฆกรรมนั้นๆ ภิกษุที่สมทบนั้นเรียกว่าคณปูรกะ

คณโภชน์ ฉันเป็นหมู่ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะแล้วฉัน; อีกนัยหนึ่งว่า นั่งล้อมโภชนะฉันหรือฉันเข้าวง

คณะธรรมยุต คณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นภิกษุในรัชกาลที่
๓ ; เรียกว่า ธรรมยุตติกา หรือธรรมยุติกนิกาย ก็มี; สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์ออกจากมหานิกายนั้นเอง แต่ได้รับอุปสมบทในรามัญนิกายด้วย” (การคณะสงฆ์ น. ๑๐)

คณะมหานิกาย คณะสงฆ์ไทยเดิมที่สืบมาแต่สมัยสุโขทัย, เป็นชื่อที่ใช้เรียกในเมื่อได้เกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นแล้ว; สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง (ของประเทศไทยผู้เขียน) ก่อนเกิดธรรมยุติกนิกาย” (การคณะสงฆ์ น. ๙๐)

คณาจารย์ อาจารย์ของหมู่คณะ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย