พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด คณิกา - ครุ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


คณิกา - ครุ

คณิกา หญิงแพศยา, หญิงงามเมือง

คดีธรรม ทางธรรม, คติแห่งธรรม

คดีโลก ทางโลก, คติแห่งโลก

คติ 1. การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง 2. ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี ๕ คือ ๑. นิรยะ นรก ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ๓. เปตติวิสัย แดนเปรต ๔. มนุษย์ สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล ๕. เทพ ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงอกนิษฐพรหม (ท่านว่าในที่นี้ จัดอสูรเข้าในเปตติวิสัยด้วย) ๓ คติแรกเป็น ทุคติ (ที่เกิดอันชั่วหรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี) ๒ คติหลังเป็นสุคติ (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนินชีวิตที่ดี)

คมิยภัต ภัตเพื่อผู้ไป, อาหารที่เขาถวาย เฉพาะภิกษุผู้จะเดินทางไปอยู่ที่อื่น; คมิกภัต ก็ว่า

คยา จังหวัดที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จเมื่อครั้งโปรดนักบวชชฎิล และได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตรที่ ตำบลคยาสีสะในจังหวัดนี้ ปัจจุบันตัวเมืองคยาอยู่ห่างจากพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าประมาณ ๗ ไมล์

คยากัสสป นักบวชชฎิลแห่งกัสสปโคตรตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ เป็นน้องชายคนเล็กของอุรุเวลกัสสปะ ออกบวชตามพี่ชาย พร้อมด้วยชฎิล ๒๐๐ ที่เป็นบริวาร ได้ฟังพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร บรรลุพระอรหัต และเป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง ในอสีติมหา สาวก

คยาสีสะ ชื่อตำบล ซึ่งเป็นเนินเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดคยา พระพุทธเจ้าเทศนาอาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุสงฆ์ปุราณชฎิลทั้งหมดให้สำเร็จพระอรหัตที่ตำบลนี้

ครรภ์ ท้อง, ลูกในท้อง, ห้อง

ครรโภทร ท้อง, ท้องมีลูก

ครองผ้า นุ่งห่มผ้า

คราวใหญ่ คราวที่ภิกษุอยู่มาด้วยกันบิณฑบาตไม่พอฉัน (ฉันเป็นหมู่ได้ ไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์)

ครุ เสียงหนัก ได้แก่ทีฆสระ คือ อา อี อู เอ โอ และสระที่มีพยัญชนะสะกด ซึ่งเรียกว่า สังโยค เช่น พุทฺโธ โลเก อุปฺปนฺโน




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย