ฉัพพรรณรังสี - เฉวียง
ฉัพพรรณรังสี รัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า คือ
๑. นีล เขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีต เหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิต แดงเหมือนตะวันอ่อน
๔. โอทาต ขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฐ สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
๖. ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก
ฉายา 1.
เงา, อาการที่เป็นเงา ๆ คือไม่ชัดออกไป, อาการเคลือบแฝง 2. ชื่อที่พระอุปัชฌายะตั้งให้แก่ผู้ขอบวชเป็นภาษาบาลี เรียกว่าชื่อฉายา ที่เรียกเช่นนี้เพราะเดิมเมื่อเสร็จการบวชแล้ว ต้องมีการวัดฉายาคือเงาแดด ด้วยการสืบเท้าว่าเงาหดหรือเงาขยายแค่ไหน ชั่วกี่สืบเท้า การวัดเงาด้วยเท้านั้นเป็นมาตรานับเวลา
เรียกว่าบาท เมื่อวัดแล้วจดเวลาไว้และจดสิ่งอื่น ๆ เช่นชื่อพระอุปัชฌายะ พระกรรมวาจาจารย์ จำนวนสงฆ์ และชื่อผู้อุปสมบท
ทั้งภาษาไทยและมคธลงในนั้นด้วย ชื่อใหม่ที่จดลงตอนวัดฉายานั้น จึงเรียกว่าชื่อฉายา
ฉายาปาราชิก เงาแห่งปาราชิก
คือประพฤติตนในฐานะที่ล่อแหลมต่อปาราชิก อาจเป็นปาราชิกได้ แต่จับไม่ถนัด
เรียกว่าฉายาปาราชิก เป็นผู้ที่สงฆ์รังเกียจ
ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่
ไม่ได้บรรลุโลกุตตรธรรม, หมดโอกาสที่จะบรรลุโลกุตตรธรรม
เฉทนกปาจิตตีย์
อาบัติปาจิตตีย์ที่ต้องตัดสิ่งของที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก
ได้แก่ สิกขาบทที่
๕-๗-๘-๙-๑๐ แห่งรตนวรรค (ปาจิตตีย์ข้อ ๘๗, ๘๙, ๙๐, ๙๑, ๙๒)
เฉวียง (ในคำว่า
“ทำผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า”) ซ้าย, ในที่นี้หมายถึง พาดจีวรไว้ที่บ่าซ้าย