ค้นหาในเว็บไซต์ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด จิตตกัมมัญญตา - จิตตานุปัสสนา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


จิตตกัมมัญญตา - จิตตานุปัสสนา

จิตตกัมมัญญตา ความควรแก่การงานแห่งจิต, ธรรมชาติทำจิตให้เหมาะแก่การใช้งาน (ข้อ ๑๕ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

จิตตกา เครื่องลาดทำด้วยขนแกะ ที่ปักหรือทอเป็นลวดลายต่าง ๆ

จิตตคฤหบดี ชื่ออุบาสกคนหนึ่ง มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสก
ธรรมกถึก; ท่านผู้นี้เคยถูกภิกษุชื่อ สุธรรมด่า เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติปฏิสาราณียกรรม คือ การลงโทษภิกษุผู้ด่าว่าคฤหัสถ์ที่ไม่มีความผิด ด้วยการให้ไปขอขมาเขา

จิตตปาคุญญตา ความคล่องแคล่วแห่งจิต, ธรรมชาติที่ทำจิตให้สละสลวยคล่องแคล่วว่องไว (ข้อ ๑๗ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

จิตตภาวนา ดูภาวนา

จิตตมาส เดือน ๕

จิตตมุทุตา ความอ่อนแห่งจิต, ธรรมชาติทำจิตให้นุ่มนวลอ่อนละมุน (ข้อ ๑๓ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

จิตตลหุตา ความเบาแห่งจิต, ธรรม ชาติที่ทำให้จิตเบาพร้อมที่จะเคลื่อนไหวทำหน้าที่ (ข้อ ๑๑ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต คือได้ฝึกอบรมจิตจนเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา (ข้อ ๒ ในวิสุทธิ ๗)

จิตตสังขาร 1. ปัจจัยปรุงแต่งจิตได้แก่สัญญาและเวทนา 2. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่เจตนาที่ก่อให้เกิดมโนกรรม ดู สังขาร

จิตตสันดานการสืบต่อมาโดยไม่ขาดสายของจิต; ในภาษาไทยหมายถึงพื้นความรู้สึกนึกคิดหรืออุปนิสัยใจคอที่ฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจมาแต่กำเนิด (ความหมายนัยหลังนี้ มิใช่มาในบาลี)

จิตตสิกขา ดู อธิจิตตสิกขา

จิตตานุปัสสนาสติพิจารณาใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่าใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเรา เขา กำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ เช่น จิตมี ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ จิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ (ข้อ ๓ ในสติปัฏฐาน ๔)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย