พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด เจ้าอธิการแห่งคลัง - ใจดำ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


เจ้าอธิการแห่งคลัง - ใจดำ

เจ้าอธิการแห่งคลัง ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ มี ๒ อย่าง คือ ผู้รักษาคลังที่เก็บพัสดุของสงฆ์
(ภัณฑาคาริก) และผู้จ่ายของเล็กน้อยให้แก่ภิกษุทั้งหลาย (อัปปมัตตวิสัชกะ)

เจ้าอธิการแห่งจีวร คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับจีวร ๓ อย่างคือ ผู้รับจีวร (จีวรปฏิคาหก) ผู้เก็บจีวร (จีวรนิทหก) ผู้แจกจีวร (จีวรภาชก)

เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเสนาสนะ แยกเป็น ๒ คือ ผู้แจกเสนาสนะให้ภิกษุคือ (เสนาสนคาหาปก) และผู้แต่งตั้งเสนาสนะ (เสนาสนปัญญาปก)

เจ้าอธิการแห่งอาราม ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับงานวัด แยกเป็น ๓ คือ ผู้ใช้คนงานวัด (อารามิกเปสก) ผู้ใช้สามเณร (สามเณรเปสก) และผู้ดูแลการปลูกสร้าง (นวกัมมิก)

เจ้าอธิการแห่งอาหารภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับอาหาร มี ๔ อย่าง คือ ผู้จัดแจกภัต (ภัตตุเทศก์) ผู้แจกยาคู (ยาคุภาชก) ผู้แจกผลไม้ (ผลภาชก) และผู้แจกของเคี้ยว (ขัชชภาชก)

เจ้าอาวาส สมภารวัด, หัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด

โจท ฟ้องร้อง; ทักท้วง ดู โอกาส

โจทก์ ผู้ฟ้องร้อง

โจทนา กิริยาที่โจท, การโจท, การฟ้อง, การทักท้วง, การกล่าวหา, คำฟ้อง

โจทนากัณฑ์ ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวารแห่งพระวินัยปิฎก

โจรกรรม การลัก, การขโมย, การกระทำของขโมย

โจรดุจผูกธง โจรผู้ร้ายที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

ใจจืด ขาดเมตตา เช่น พ่อแม่ มีกำลังพอที่จะเลี้ยงดูลูกได้ก็ไม่เลี้ยงดูลูกให้สมควรแก่สถานะ เป็นต้น, ไม่เอื้อเฟื้อแก่ใคร

ใจดำ ขาดกรุณา คือตนมีกำลังสามารถ จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ก็ไม่ช่วย เช่น เห็นคนตกน้ำแล้วไม่ช่วยเป็นต้น




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย