ชาติสุททะ - ชีวก
ชาติสุททะ
พวกสุททะ, คนพวกวรรณะศูทร เป็นคนชั้นต่ำในชมพูทวีป ดู ศูทร
ชานุมณฑล เข่า,
ตอนเข่า
ชาวปาจีน คำเรียกภิกษุชาววัชชีบุตรอีกชื่อหนึ่ง
หมายถึงอยู่ด้านทิศตะวันออก, ชาวเมืองตะวันออก
ชิวหา ลิ้น
ชิวหาวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรสกระทบลิ้น,
รสกระทบลิ้นเกิดความรู้ขึ้น, การรู้รส
ชิวหาสัมผัส อาการที่ลิ้น
รส และ ชิวหาวิญญาณประจวบกัน
ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา
เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ลิ้น
รส และชิวหา วิญญาณประจวบกัน
ชี นักบวช, หญิงถือบวช,
อุบาสิกาที่นุ่งขาวห่มขาวโกนผมโกนคิ้ว ถือศีล
ชีต้น พระสงฆ์ที่คุ้นเคยใกล้ชิดกับครอบครัวหรือตระกูล
ซึ่งเขาเคารพนับถือเป็นอาจารย์เป็นที่ปรึกษา เรียกอย่างคำบาลีว่า กุลุปกะ, กุลูปกะ หรือกุลุปก์ ดู กุลุปกะ
ชีเปลือย นักบวชจำพวกหนึ่ง
ถือเพศเปลือยกาย
ชีพ ชีวิต, ความเป็นอยู่
ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล
เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย,
เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์ หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิง งามเมือง)
ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่
ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ แต่พอดีเมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร
จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไปเห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิต อยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางนมเลี้ยงไว้ในวัง
ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่)
หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่ายังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า
ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)
ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตัว
จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี
อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ตัวยา
ชีวกหาไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์
เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมือง สาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา
๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้าเดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง
ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
ต่อมาไม่นานเจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง
๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
หมอชีวกได้รักษาโรคร้ายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐี เมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขาเพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ
หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ
๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไปจึงสร้าง วัดถวายในอัมพวันคือสวนมะม่วงของตนเรียกกันว่า
ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก
จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษา ตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติข้อ
ห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด
นอกจากนั้นหมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอ ชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดา
อุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล