ปราโมทย์ - ปริพาชก
ปราโมทย์ ความบันเทิงใจ, ความปลื้มใจ
ปรารภ ตั้งต้น, ดำริ, กล่าวถึง
ปรารมภ์ เริ่ม, ปรารภ, เริ่มแรก, วิตก, รำพึง,ครุ่นคิด
ปราศรัย พูด้วยความเอ็นดู, กล่าว
ปราสาท เรือนหลวง, เรือนชั้น
ปริกถา คำพูดหว่านล้อม, การพูดให้รู้โดยปริยาย, การพูดอ้อมไปอ้อมมาเพื่อให้เขาถวายปัจจัย ๔ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่ภิกษุ ถ้าทำปริกถาเพื่อให้เขาถวายจีวรและบิณฑบาต ชื่อว่ามีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ แต่ท่านว่าทำปริกถาในเรื่องเสนาสนะได้อยู่ เช่น พูดว่าในเรื่องเสนาสนะได้อยู่ เช่น พูดว่า "เสนาสนะของสงฆ์คับแคบ" อย่างไรก็ตาม ถ้าถือธุดงค์ ไม่พึงทำปริกถาอย่างหนึ่งอย่างใดเลย
ปริกรรมนิมิต นิมิตแห่งบริกรรม, นิมิตขี้นตระเตรียมหรือเริ่มเจริญสมถกรรมฐานได้แก่สิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู หรือพุทธคุณที่นึกว่าอยู่ในใจเป็นต้น (ข้อ ๑ ในนิมิต ๓)
ปริกัป ๑. ความตรึก, ความดำริ, ความคำนึง, ความกำหนดในใจ ๒. การกำหนดด้วยเงื่อนไข, ข้อแม้
ปริกัมม ดู บริกรรม
ปริจเฉท กำหนดตัด, ข้อความที่กำหนดไว้เป็นตอนๆ , ข้อความที่รวบรวมเอามาจัดเป็นหมวดๆ, บท,ตอน; การกำหนดแยก, การพิจารณาตัดแยกออกให้เห็นแต่ละส่วน (พจนานุกรมเขียน ปริเฉท)
ปริจเฉทรูป รูปที่กำหนดเทศะ ได้แก่อากาสธาตุ หรืออากาศ คือช่องว่าง เช่น ช่องว่างในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ปริญญา การกำหนดรู้, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน มี ๓ คือ ๑. ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก ๒. ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา ๓. ปหานปริญญา กำหนดรู้ถึงขั้นละได้
ปริณายก ผู้นำ, ผู้เป็นหัวหน้า
ปริเทวะ ความร่ำไรรำพัน, ความคร่ำครวญ, ความรำพันด้วยเสียใจ, ความบ่นเพ้อ
ปริเทวนาการ ดู ปริเทวะ
ปรินิพพาน การดับรอบ, การดับสนิท, ตาย (สำหรับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์) ดู นิพพาน
ปรินิพานบริกรรม การกระทำขั้นต้นก่อนที่จะปรินิพพาน, การเตรียมปรินิพพาน ในพุทธประวัติ ได้แก่ การทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติก่อนแล้วเสด็จปรินิพพาน
ปรินิพพานสมัย เวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน
ปริปุจฉา การสอบถาม, การค้นคว้า, การสืบค้นหาความรู้
ปริพาชก นักบวชผู้ชายนอกพระพุทธศาสนาพวกหนึ่งในชมพูทวีปชอบสัญจรไปในที่ต่างๆ สำแดงทรรศนะทางศาสนาปรัชญาของตน