พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ธรรมทาน - ธรรมเป็นโลกบาล ๒

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ธรรมทาน - ธรรมเป็นโลกบาล ๒

ธรรมทาน การให้ธรรม, การสั่งสอนแนะนำเกี่ยวกับธรรม, การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดู ทาน

ธรรมทายาท ทายาทแห่งธรรม, ผู้รับมรดกธรรม,ผู้รับเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาเป็นสมบัติด้วยการประพฤติ ปฏิบัติให้เข้าถึง; โดยตรงหมายถึงรับเอาโลกุตตรธรรม ๙ ไว้ด้วยการบรรลุเองโดยอ้อมหมายถึง รับปฏิบัติกุศลธรรม จะเป็นทาน ศีล หรือภาวนาก็ตาม ตลอดจนการบูชาที่เป็นไปเพื่อบรรลุซึ่งโลกุตตรธรรมนั้น เทียบ อามิสทายาท

ธรรมทำให้งาม ๒ คือ ๑. ขันติ ความอดทน ๒. โสรัจจะ ความเสงี่ยมหรือความมีอัธยาศัยประณีต

ธรรมทินนา ดู ธัมมทินนา

ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ ดู อภิณหปัจจเวกขณ์

ธรรมเทศนา การแสดงธรรม, การบรรยายธรรม

ธรรมเทศนาปฏิสังยุต ธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการแสดงธรรม (หมวดที่ ๓ แห่งเสขิยวัตร มี ๑๖ สิกขาบท)

ธรรมเทศนาสิกขาบท สิกขาบทปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้แสดงธรรมแก่มาตุคามเกินกว่า ๕-๖ คำเว้นแต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย (สิกขาบทที่ ๗. ในมุสาวาทวรรคแห่งปาจิตตีย์)

ธรรมนิยาม กำหนดแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติที่ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง, สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์, ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดู ไตรลักษณ์

ธรรมเนียม ประเพณี, แบบอย่างที่เคยทำกันมา, แบบอย่างที่นิยมใช้กัน

ธรรมบท บทแห่งธรรม, บทธรรม, ข้อธรรม; ชื่อคาถาบาลีหมวดหนึ่งจัดเป็นคัมภีร์ที่ ๒ ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก มี ๔๒๓ คาถา

ธรรมปฏิบัติ การปฏิบัติธรรม; การปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรม

ธรรมปฏิรูป ธรรมปลอม, ธรรมที่ไม่แท้, ธรรมเทียม

ธรรมปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยธรรม คือกล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำในทางธรรม อย่างนี้เป็นธรรมปฏิสันถารโดยเอกเทศคือส่วนหนึ่งด้านหนึ่งธรรมปฏิสันถารที่บำเพ็ญอย่างบริบูรณ์คือการต้อนรับโดยธรรม ได้แก่ เอาใจใส่ช่วยเหลือสงเคราะห์ แก้ไขปัญหา บรรเทาข้อสงสัย ขจัดปัดเป่าข้อติดขัดยากลำบากเดือนร้อนทั้งหลาย ให้เขาลุล่วงกิจอันเป็นกุศล พ้นความอึดอัดขัดข้อง เทียบ อามิสปฏิสันถาร

ธรรมเป็นโลกบาล ๒ คือ ๑. หิริ ความละอายแก่ใจ ๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาป ดู โลกบาลธรรม




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย