พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย - ธรรมสมโภค

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย - ธรรมสมโภค

ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย ธรรมที่จะช่วยให้ได้ ทุลลภธรรม สมหมายมี ๔ คือ ๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล ๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

ธรรมพิเศษ ธรรมชั้นสูง หมายถึงโลกุตตรธรรม

ธรรมไพบูลย์ ความไพบูลย์แห่งธรรม, ความพรั่งพร้อมเต็มเปี่ยมแห่งธรรม ด้วยการฝึกฝนอบรมให้มีในตนจนบริบูรณ์ หรือด้วยการประพฤติปฏิบัติกันในสังคมจนแพร่หลายทั่วไปทั้งหมด ดู ไพบูลย์, เลปุลละ

ธรรมภาษิต ถ้อยคำที่เป็นธรรม, ถ้อยคำที่แสดงธรรม หรือเกี่ยวกับธรรม

ธรรมมีอุปการะมาก ๒ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว

ธรรมยุต, ธรรมยุติกนิกาย ดู คณะธรรมยุต

ธรรมราชา พระราชาแห่งธรรม, พระราชาโดยธรรม หมายถึงพระพุทธเจ้า และบางแห่งหมายถึง พระเจ้าจักรพรรดิ

ธรรมวัตร ลักษณะเทศน์ทำนองธรรมดาเรียบๆ ที่แสดงอยู่ทั่วไป อันต่างไปจากทำนองเทศน์แบบมหาชาติ, ทำนองแสดงธรรม ซึ่งมุ่งอธิบายตามแนวเหตุผล มิใช่แบบเรียกร้องอารมณ์

ธรรมวาที “ผู้มีปกติกล่าวธรรม”, ผู้พูดเป็นธรรม, ผู้พูดตามธรรม, ผู้พูดตรงตามธรรมหรือพูดถูกต้องตามหลักไม่พูดผิดธรรม ไม่พูดนอกหลักธรรม

ธรรมวิจัย การเฟ้นธรรม ดู ธัมมวิจยะ

ธรรมวิจารณ์ การใคร่ครวญพิจารณาข้อธรรมต่าง ๆ ว่าแต่ละข้อมีอรรถคือความหมายอย่างไร ตื้นลึกเพียงไร แล้วแสดงความคิดเห็นออกมาว่าธรรมข้อนั้นข้อนี้มีอรรถคือความหมายอย่างนั้นอย่างนี้

ธรรมวินัย ธรรมและวินัย, คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วย ธรรม = คำสอนแสดงหลักความจริง และแนะนำความประพฤติ, วินัย = บทบัญญัติกำหนดระเบียบความเป็นอยู่และกำกับความประพฤติ; ธรรม = เครื่องควบคุมใจ, วินัย = เครื่องควบคุมกายและวาจา

ธรรมวิภาค การจำแนกธรรม, การจัดหัวข้อธรรมจำแนกออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าอธิบายและทำความเข้าใจ

ธรรมสภา ที่ประชุมฟังธรรม, โรงธรรม

ธรรมสมโภค คบหากันในทางเรียนธรรม ได้แก่สอนธรรมให้หรือขอเรียนธรรม




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย